ผู้ที่จ้องหน้าจอนานๆ ดวงตามีอะไรจะบอก
ทุกวันนี้ อาชีพอย่างพวกเราทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์กันวันละกี่ชั่วโมง.. หกชั่วโมงบ้าง แปดชั่วโมงบ้าง นี่ยังไม่นับเวลานอกออฟฟิศที่เราเปิดโน๊ตบุ๊คตอนเอางานกลับไปทำที่บ้าน หรือจ้องหน้าจอโทรศัพท์ แท็บเล็ต เล่นเกม ตอบไลน์ อ่านเฟสบุ๊คในระหว่างช่วงพัก แทบจะพูดได้เลยว่ามีแค่ช่วงที่เราหลับตานอนเท่านั้นที่สายตาเราไม่ได้จ้องอยู่ที่หน้าจอ แล้วการจ้องหน้าจอนาน ๆ ทุก ๆ วันแบบนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเรา
คุณกำลังมีความเสี่ยงของโรค Computer Vision Syndrome
โรคคอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม (Computer Vision Syndrome) เป็นกลุ่มอาการผิดปกติของดวงตาที่เป็นผลมาจากการใช้สายตาบนจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน เนื่องจากทุกครั้งที่เราเพ่งจอ จะมีการออกแรงของกล้ามเนื้อรอบตา ยิ่งเพ่งเป็นเวลานานก็ยิ่งทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่มีการออกแรงเกิดการล้า จนเกิดความผิดปกติต่อดวงตาและการมองเห็น หลายคนที่เริ่มเป็นโรคนี้จะเกิดความรู้สึกไม่สบายตาเหมือนแต่ก่อน เริ่มมีอาการตาแห้ง แสบตา ระคายเคืองตา การมองเห็นเริ่มผิดปกติเมื่อต้องจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน และอาการจะเริ่มรุนแรงเมื่อต้องใช้ระยะเวลาบนหน้าจอยาวนานขึ้น ในบางรายอาจเกิดอาการปวดศีรษะตามมาได้ด้วย
อาการของโรคมีอะไรบ้าง ?
ผู้ป่วยมักจะมีอาการต่อไปนี้ร่วมกัน ได้แก่ ตาแห้ง ระคายเคืองตา ตาล้า ปวดตา มองเห็นภาพไม่ชัด อาการทางดวงตาเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยต้องขยับท่าทาง หรือท่านั่งเพื่อช่วยในการมองเห็น ซึ่งหากท่านั่งนั้นไม่ถูกหลัก อาจส่งผลทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดไหล่ได้ด้วย
ระยะเวลาที่จะเริ่มแสดงอาการด้านการมองเห็นของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการมองเห็นของแต่ละคน ร่วมกับระยะเวลาที่ใช้ไปกับการมองจอคอมพิวเตอร์ ความสามารถในการมองเห็นของแต่ละคนที่จะส่งเสริมการแสดงอาการของโรคให้ไวขึ้นเช่น ผู้ที่มีสายตายาว สายตาเอียง สายตามีปัญหาด้านการโฟกัสภาพ หรืออายุที่มากขึ้นก็ส่งผลให้สายตายาวขึ้นตามวัย
ในผู้ป่วยหลายรายอาจพบว่าอาการของตนเองเป็นเพียงอาการชั่วคราว และหายไปเมื่อเลิกทำงานที่ต้องใช้สายตากับจอคอมพิวเตอร์ แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายเช่นกันที่อาการยังคงอยู่แม้ว่าจะเลิกใช้สายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้ว และเกิดการลดประสิทธิภาพการมองเห็นลงอย่างต่อเนื่อง เช่น เริ่มมองเห็นภาพไกล ๆ ไม่ชัด ซึ่งหากถ้าเราไม่ได้สังเกตอาการหรือสงสัยในพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง การมองเห็นก็อาจแย่ลงไปเรื่อยๆทุกครั้งที่มีการใช้สายตากับจอคอมพิวเตอร์
สาเหตุของโรคมีอะไรบ้าง
สาเหตุของการเกิดโรค อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน ได้แก่
- แสงสว่างของหน้าจอไม่พียงพอต่อการมองเห็น
- การสะท้อนของแสงบนหน้าจอเข้าสู่ดวงตา
- ระยะห่างระหว่างดวงตากับหน้าจอไม่เหมาะสม
- ท่าทางการนั่งที่ไม่ถูกวิธี
- ปัญหาด้านสายตาเฉพาะของแต่ละบุคคล
แล้วการจ้องบนหน้าจอต่างกับการอ่านหนังสือบนแผ่นกระดาษอย่างไร ?
การจ้องหน้าจอจะต้องใช้การเพ่งตัวหนังสือมากกว่าการอ่านหนังสือบนแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบนหน้าจอที่มีความละเอียดของภาพค่อนข้างต่ำ และไม่สามารถปรับแสงสว่างของหน้าจอให้มากพอได้ ทำให้ไม่เกิดความคมชัดของตัวหนังสือ การตัดกันระหว่างตัวอักษรกับพื้นหลังบนจอลดลง นอกจากนี้ภาพหรือตัวอักษรบนจอแทบจะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งทำให้ดวงตาต้องมีการเคลื่อนไหวและคอยปรับโฟกัสของภาพอยู่ตลอด แสงสะท้อนของหน้าจอก็ส่งผลต่อการมองเห็นด้วยเช่นกัน
โดยปกติแล้วน้ำตาจะเป็นตัวช่วยหล่อลื่นดวงตาไม่ให้เกิดการแห้ง การศึกษาพบว่าท่านั่งในขณะที่เราทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์จะอยู่ในองศาที่พื้นที่ผิวของดวงตาจะสัมผัสกับอากาศมากขึ้น ร่วมกับความร้อนของหน้าจอคอมพิวเตอร์ช่วยส่งเสริมให้เกิดการระเหยของน้ำตามากกว่าปกติ ทำให้อาการตาแห้งมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าช่วงที่ไม่ได้เพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้แล้วการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ทำให้ดวงตาต้องสัมผัสกับแสงที่มีคลื่นความถี่ต่ำมากกว่าปกติ หรือที่เรามักได้ยินอยู่บ่อยๆว่า ‘แสงสีน้ำเงิน’ ซึ่งแสงสีน้ำเงินนี้เองพบว่าส่งผลต่อการถูกทำลายของจอประสาทตา และทำให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาเกิดอาการล้าอีกด้วย ทั้งหมดนี้เองเป็นเหตุผลว่า ทำไมการใช้สายตาบนหน้าจอ ดวงตาต้องทำงานมากกว่าการอ่านหนังสือบนแผ่นกระดาษ
เราสามารถป้องกันสายตาจากการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้อย่างไรบ้าง ?
- ตำแหน่งของหน้าจอคอมพิวเตอร์ กึ่งกลางจอควรอยู่ใต้ระดับสายตา 15-20 องศา และอยู่ห่างจากสายตา 20-28 นิ้ว
- ลดแสงสะท้อนเข้าตา ควรปรับแสงสว่างบริเวณทำงานโดยรอบ เช่น แสงจากหลอดไฟเพดาน เพื่อลดการสะท้อนของแสงเข้าตา ในกรณีที่ทำงานบริเวณริมหน้าต่าง อาจเคลื่อนย้ายตำแหน่งของจอคอมพิวเตอร์หรือใช้ม่านบังแดดเพื่อลดการสะท้อนของแสงจากดวงอาทิตย์เข้าสู่หน้าจอ หรือติดแผ่นกรองแสงที่หน้าจอ
- ปรับท่านั่ง เก้าอี้ที่นั่งควรเป็นเก้าอี้ที่ผู้นั่งรู้สึกสบาย มีระดับความสูงเหมาะสมกับการวางมือลงบนแป้นพิมพ์ และสามารถวางเท้าได้ในแนวราบ หากเป็นเก้าอี้ที่มีเท้าแขน ควรอยู่ในระดับที่ผู้นั่งสามารถพิมพ์ได้สะดวก หากเป็นไปได้ควรมีที่รองข้อมืออยู่ด้านหน้าแป้นพิมพ์ เพื่อไม่ให้ข้อมือตกอยู่ในระดับเดียวกับแป้นพิมพ์ในขณะพิมพ์
- กระพริบตาบ่อยๆ การกระพริบตาจะช่วยให้น้ำตามาหล่อเลี้ยงบริเวณผิวของด้วยตามากขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดการแห้งของดวงตา
- ใช้น้ำตาเทียม ถ้าเกิดอาการตาแห้งบ่อยๆในระหว่างที่ทำงานหน้าจอ แบบที่การกระพริบตาไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ การใช้น้ำตาเทียมสามารถช่วยหล่อลื่นดวงตาจากอาการตาแห้งได้เช่นกัน
- การใช้แว่น หรือคอนแทคเลนส์ที่ออกแบบเป็นพิเศษสำหรับการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ในปัจจุบันนอกจากเราจะสามารถสั่งตัดแว่นเพื่อปรับระดับสายตาได้แล้ว เรายังสามารถเพิ่มตัวเลือกคุณสมบัติของแว่นให้เหมาะสมกับการใช้งานของเราได้ด้วย เช่น แว่นตัดแสงสะท้อน หรือแว่นตัดแสงสีฟ้าจากจอคอมพิวเตอร์
- การรักษาความผิดปกติของดวงตาที่เป็นอยู่ หากทราบว่าตนเองเป็นโรคดวงตาหรือเริ่มมีความผิดปกติ ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อรักษาอาการนั้นควบคู่ไปด้วย ก่อนที่ความรุนแรงของโรคจะส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาว หรือถาวร
เมื่อยล้า ต้องพักสายตาบ้าง จำง่าย ๆ แค่ 20-20-20
สมาคมนักทัศนมาตรศาสตร์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพตา) สหรัฐอเมริกาให้คำแนะนำถึงผู้ที่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์ วิธีการพักสายตาง่ายๆเพื่อลดอาการตาล้า โดยใช้กฎ 20-20-20 คือ ทุกๆ 20 นาทีของการมองจอคอมพิวเตอร์ ให้มองวัตถุที่อยู่ไกลออกไปอย่างน้อย 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที
อ้างอิง
- บุษป์รัตน์ การะโชต, กลุ่มวิชาการและประสานงานวิจัยทางคลินิก, โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม, R&D NEWSLETTER, องค์การเภสัชกรรม, ปีที่ 23 ฉบับที่ 1 ประจำเดือน มกราคม – มีนาคม 2559.
- American Optometric Association, Computer Vision Syndrome Available in https://www.aoa.org/patients-and-public/caring-for-your-vision/protecting-your-vision/computer-vision-syndrome, 6 July 2019.
- WebMD, What Is Computer Vision Syndrome? Available in https://www.webmd.com/eye-health/computer-vision-syndrome#1, 6 July 2019.