ฝันร้ายจากการหลงทางบนเว็บไซต์
ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยผ่านการใช้งานเว็บมาบ้างแล้วล่ะ (อย่างน้อยก็ต้องผ่านเว็บเพื่อมาอ่านบทความนี้ได้ 5555) และผมคิดว่ามีไม่น้อยเลยทีเดียวที่เคยหลงทางบนเว็บไซต์ หรือหาสิ่งที่ตัวเองต้องการไม่เจอ ไม่รู้ว่าตอนนี้กำลังใช้เว็บอะไรอยู่ และมันก็จะลงเอยด้วยการปิดเว็บนั้นทิ้งไป ยิ่งเราอยู่ในยุคที่การเกิดขึ้นของเว็บไซต์นั้นเพิ่มมากขึ้นแบบเท่าตัว ไม่ต้องแปลกใจเลยครับ บางคนเข้ามาหน้าแรกไม่ถึง 10 วินาที ก็กดปุ่ม Back ไปหาเว็บอื่นต่อแล้ว ในบทความนี้เลยจะมาแชร์เรื่องความสำคัญของ Navigation บนเว็บไซต์กันครับ
ทำไมต้องทำ Navigation บนเว็บไซต์
ถ้าคุณกำลังทำเว็บไซต์แบบ One-Page ที่มีเนื้อหาไม่มากนัก ก็อาจจะมองไม่เห็นความสำคัญของการนำทางหรอกครับ มันเหมือนกับการขับรถบนถนนที่มีแต่เส้นตรงไปกลับอย่างเดียว แต่ลองนึกถึงเว็บไซต์ขนาดใหญ่ เช่น เว็บขายของออนไลน์ หรือเว็บค้นหาเที่ยวบิน มันเหมือนกับขับรถในเมืองขนาดใหญ่ที่มีซอยเป็นร้อย ๆ ซอย มีหลงแน่นอน ดังนั้นจุดประสงค์หลัก ๆ ของตัว Navigation นั้นมีอยู่ 2 ข้อ คือ
- ทำให้ผู้ใช้รู้ว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ที่ไหน
- ทำให้ผู้ใช้รู้ว่าควรจะหาสิ่งที่ตัวเองต้องการได้จากส่วนไหนของเว็บไซต์
ถ้าใครเคยไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า ก็คงจะคุ้นเคยกับป้ายบอกทางต่าง ๆ เป็นอย่างดี ในการเลือกซื้อของในห้างสรรพสินค้านั้นจะมีคนอยู่ 2 แบบครับ แบบแรกจะเป็นแบบที่ยอมเสียเวลาหน่อยเพื่อเดินหาเอาตามป้าย กับแบบที่สองคือเดินเข้าไปถามพนักงานเลยเพื่อให้เค้าพาไปหาสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งการตัดสินใจว่าจะเลือกแบบไหนนั้นมาจากหลายปัจจัย เช่น ความคุ้นเคยกับสถานที่ ความเร่งรีบ เป็นต้น
ในโลกออนไลน์ก็เหมือนกันครับ เรากำลังมองหาอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหูฟัง ของเล่น กล้อง หรืออะไรก็ตามที่ตัวเราเองต้องการ จากนั้นก็เปิดเว็บไซต์หา เราอาจจะมีเว็บไซต์ขาประจำที่ใช้ซื้อของบ่อย ๆ หรืออาจจะเพิ่งพา Google ก็ได้ ซึ่งมันอยู่ที่ว่าเราจะหาเอง หรือจะมองหาตัวช่วยอื่น ๆ
คนชอบหา VS คนชอบถาม
Jakob Nielsen เคยแบ่งพฤติกรรมของคนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่า “พวกชอบค้นหา”(Search-Dominant) ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นประเภทเข้าเว็บไซต์และจะมองหาช่อง search เลยทีเดียว เน้นหาไม่เน้นค้น กับอีกกลุ่มนึงจะเป็นประเภท “พวกชอบลิงค์” (Link-Dominant) ก็คือคนที่จะมองหาลิงค์ต่าง ๆ เมื่อเข้ามายังเว็บไซต์ พวกเค้าจะใช้ลิงค์หาข้อมูลไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะจนมุมจริง ๆ ถึงจะไปพึ่งบุญจากช่อง search ดังนั้นเวลาออกแบบระบบ Navigation ควรเลือกครับว่าเราจะทำแบบไหนให้ดีก่อน(จริง ๆ ควรทำให้ดีทั้งคู่) ซึ่งในช่วงแรกเราไม่มีทางทำได้ดีทั้งสองอันพร้อมกันแน่นอน อาจจะเริ่มจากการ Research หรือลองทำ Prototype เพื่อไปทดสอบดูว่าผู้ใช้ที่เป็นเป้าหมายของเรานั้นส่วนใหญ่เป็นแบบไหน ก็จะทำให้เริ่มต้นได้ง่ายขึ้น และอย่าลืมว่าสิ่งที่คน 2 ประเภทนี้มีเหมือนกันคือ พวกเค้ามีความอดทนจำกัดในการค้นหาสิ่งที่พวกเค้าต้องการ
ความแตกต่างระหว่างโลกความเป็นจริง และโลกออนไลน์
จริง ๆ แล้วการมองหาอะไรสักอย่างในโลกของความเป็นจริงนั้นจะคล้ายคลึงกับการค้นหาบนโลกออนไลน์ แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างกันนั่นก็คือประสบการณ์ในการค้นหาครับ ในโลกของออนไลน์นั้นมันมีปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เรามาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
- ขนาด
ทุกครั้งที่เราค้นหาอะไรบางอย่างบนโลกออนไลน์ หรือเว็บไซต์ขายของสักเว็บเคยถามตัวเองไหมครับว่ามันใหญ่ขนาดไหน ร้อยหน้า หรือพันหน้า นั่นแหละครับที่เป็นปัญหา มันไม่เหมือนกับการไปห้างสรรพสินค้าตรงที่เรารู้ว่าห้างมันใหญ่ขนาดไหน มีกี่ชั้น เรารู้ว่าเราเดินจนครบหมดแล้วหรือยัง แต่พอเป็นเว็บไซต์ที่ไม่มีขนาดบอก เราจะไม่รู้เลยว่าเราเห็นข้อมูลทั้งหมดที่เว็บมีแล้วหรือยัง มันเลยเกิดคำถามว่า แล้วเราจะเลิกหาของจากเว็บนี้ได้เมื่อไหร่ - ทิศทาง
เวลาที่เราเดินหาของตามห้างเราจะรับรู้ถึง “ทิศทาง” เช่น ซ้าย ขวา บน ล่าง แต่พอมาเป็นเว็บไซต์มันจะเหลือแค่การ scrolling เท่านั้น แม้มันจะเป็นขึ้น ลง เหมือนกันแต่ ประสบการณ์ที่ได้ต่างกันแน่นอน และบางเว็บก็เปลี่ยน layout ของตัว content แทบจะทุกเดือน ทำให้ “ทิศทาง” บนเว็บไซต์นั้น แทบจะไม่มีความหมายเลย - มิติ
ในความเป็นจริงเวลาเราเดินไปไหนมาไหน สิ่งหนึ่งที่เรารับรู้ได้คือ มิติ ของสถานที่ ให้ลองนึกถึงห้างสรรพสินค้าที่เราไปบ่อย ๆ ครับ ถ้าเปรียบเทียบกับการไปครั้งแรกที่เดินหลง ๆ มั่ว ๆ เพราะยังไม่รู้จักสถานที่ดีพอ กับ ณ ปัจจุบันที่เราแทบจะเป็นเจ้าถิ่นของห้างนั้นแล้ว เราจะรู้เลยว่า อ้อ โรงหนังอยู่ชั้น 4 ขึ้นบันไดเลื่อนฝั่งหลังห้างไปเรื่อย ๆ พอถึงชั้น 4 แล้วเลี้ยวขวา ก็จะเจอโรงหนัง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง แต่พอมาเป็นเว็บ เท้าของเราไม่ได้สัมผัสพื้น ไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ทั้งสิ้น เราจะไปยังจุดต่าง ๆ ผ่านการคลิกที่ลิงก์เท่านั้น เหมือนกับการใช้ใบวาร์ปกลับบ่อ หรือ Fast Travel ตามเกม RPG นั่นเอง ซึ่งเป็นอีกเหตุผลว่าทำไมปุ่ม back และปุ่มกลับหน้าหลักถึงถูกใช้บ่อยมากบนเว็บไซต์ เพราะถ้าเกิดเราหาอะไรไม่เจอ เราก็แค่กดปุ่มเหล่านี้ เหมือนกับเวลาเราหลงทางในป่าตามเกม RPG แล้วก็ใช้ใบวาร์ปกลับจุดเซฟนั่นแหละครับ
ให้ความสำคัญกับ Information Architecture
สำหรับสาย Link-Dominant แบบผมแล้วนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญมากคือการทำ Information Architectureโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นพวกเว็บไซต์ขายของแล้ว การทำ Information Architecture ที่ดีจะทำให้คนที่เข้ามาใช้งานหาของที่พวกเค้าต้องการได้ง่ายขึ้นมาก แต่ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน เพราะสินค้าบางอย่างมันก็อยู่ได้หลายหมวดหมู่ ขึ้นอยู่กับ context ว่าเรามองที่มุมไหน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญสุดคือ อย่าคิดเองเออเอง เวลาทำ Information Architecture ก็ควรจะเอาผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือถ้าเป็นไปได้ก็ให้กลุ่มผู้ใช้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย ก็จะทำให้ Information Architecture มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะมันถูกถ่ายทอดมาจาก ลำดับการคิด และการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้จริง ๆ
สุดท้ายนี้ที่อยากจะฝากกับทุก ๆ คนที่เข้ามาอ่าน ว่าการออกแบบ Navigation ให้ดีนั้นมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเว็บไซต์ที่เป็นในลักษณะของการเข้ามาค้นหาข้อมูลที่มีหลาย ๆ รูปแบบ จำพวกเว็บไซต์ขายสินค้า หรือเว็บไซต์สาย Content ต่าง ๆ เพราะความซับซ้อนของข้อมูลนั้นมีเยอะมาก ถ้าเราวาง Information Architecture ไม่ดี ก็จะทำให้ Navigation บนเว็บนั้นไม่ดีตามไปด้วย และการแก้ไข Information Architecture ใหม่หลังจากที่พัฒนาไปแล้ว ค่อนข้างจะใช้ cost สูงพอตัว และถ้ายังปล่อยไว้ไปเรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นปัญหาแบบเรื้อรัง ชนิดที่ว่ากลับมารื้อใหม่กันไม่ไหว ต้องบึ้มโปรเจคสร้างกันใหม่เลยทีเดียว
Reference : Don’t Make Me Think — Steve Krug