Skip to main content
0

หากเราเคยคิดว่าการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมเป็นเพียงการจำและเขียนโค้ดต่าง ๆ ลงในโปรแกรม ผมในฐานะผู้เขียนบอกเลยว่าจริง ๆ ยังมีการผจญภัยอะไรมากกว่านั้นที่รอเราอยู่เพียบ ! เพราะการเรียนการเขียนโปรแกรมนั้นเหมือนกับการปีนป่ายพีระมิดที่มี 5 ระดับ โดยแต่ละขั้นมีความท้าทายและความสนุกของมันเอง และ เราจะต้องขยับไปทีละขั้นเพื่อให้เราสามารถเข้าใจได้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เรากำลังทำมันคืออะไร

“เพราะการเขียนโปรแกรมไม่ใช่การคัดลอกโค้ดมาวาง แต่เป็นการเข้าใจจริง ๆ ถึงการทำงานของคอมพิวเตอร์ และ เราสามารถสั่งงานมันได้”

#หากใครอยากดูแบบไว ๆ จิ้มเมนูในนี้ได้เลยย !

โดยรูปแบบการเรียนต่อไปนี้เราจะเรียกว่า “พีรมิดแห่งการเรียนรู้การพัฒนาโปรแกรม” ที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์การสอนเกือบ 10 ปีของ borntoDev จากผู้เรียนทั้งหมดกว่า 60,000 คนทั่วประเทศ เราลองไปดูกันว่าแต่ละระดับมีอะไรบ้าง

เพราะการเขียนโปรแกรม มันคือการกำหนดการทำงานให้กับเจ้าเครื่องจักรตัวนึงที่เราจ่ายกระแสไฟฟ้าลงไป แล้วมันถึงจะทำงานได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก่อนเขียนคือ “เจ้าเครื่องนี้มันทำงานอะไรได้บ้าง และ ทำงานยังไง” ซึ่งภายในของเขานั้นก็จะประกอบไปด้วยสิ่งสำคัญ ๆ ที่ทำให้เราใช้งานไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรม, การเล่นเกม, การดูวิดีโอ หรือ แม้แต่การเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ นั่นก็คือ..

1. ต้องรู้ก่อนว่า CPU ทำงานเบื้องต้นอย่างไร

CPU หรือ Central Processing Unit เป็นหัวใจของคอมพิวเตอร์ เปรียบเสมือนเป็นสมองที่คิดและประมวลผลทุกอย่างที่เราบอกให้มันทำ ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณ, การเปิดแอปพลิเคชัน, หรือการจัดการข้อมูลต่างๆ CPU ทำงานโดยการรับคำสั่งและข้อมูล, ประมวลผลข้อมูลนั้น และส่งผลลัพธ์ออกมาให้เรานั่นเอง

2. ว่าแต่ ข้อมูลพวกนี้เก็บไว้ในไหน เวลาทำงาน เวลาประมวลผล ?

เราอาจจะเคยได้ยินอุปกรณ์ตัวนึงในคอมพิวเตอร์เรา ที่มีชื่อว่า RAM หรือ Random Access Memory โดยเจ้าตัวนี้นั้นเปรียบเสมือนกับโต๊ะทำงานของเรา เมื่อเราทำงานอะไรสักอย่าง เราต้องการพื้นที่ในการวางเอกสารหรือเครื่องมือต่างๆ ให้เข้าถึงได้ง่ายและเร็ว สิ่งที่อยู่บนโต๊ะนี้สามารถเข้าถึงได้เร็วมาก

แต่เมื่อเราไม่ใช้งาน หรือคอมพิวเตอร์ดับ สิ่งเหล่านั้นก็จะหายไป RAM ก็เหมือนกัน มันช่วยให้คอมพิวเตอร์เข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการทำงานในขณะนั้นได้อย่างรวดเร็ว เช่น ข้อมูลที่กำลังประมวลผลในตอนนั้น การคำนวณอะไรต่าง ๆ

3. แล้วถ้าเราอยากเก็บข้อมูลไว้นาน ๆ อยู่กับเราไปตลอดหละ ?

ถ้า RAM เป็นโต๊ะทำงาน แล้ว Storage ก็เหมือนกับตู้เอกสารของเรา Storage คือที่เก็บข้อมูลทั้งหมดที่ไม่หายไปเมื่อคอมพิวเตอร์ดับ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์เอกสาร, รูปภาพ หรือโปรแกรมต่างๆ มันคือที่เก็บข้อมูลแบบถาวรที่เราสามารถเข้าถึงได้เมื่อเราต้องการ แต่แน่นอนว่า การเข้าถึงแต่ละที ที่ต้องเดินไปหาในตู้เอกสาร ก็ช้ากว่าหยิบจากโต๊ะอยู่แล้ว จริงไหมคร้าบ ?

ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องแยกส่วนที่ต้องเก็บไว้ใน Storage เช่น พวก SSD / Harddisk ออกมานั่นเอง

4. รู้ว่าระบบ Digital ทำงานยังไง

เราอยู่ในโลกแห่งระบบดิจิทัล ที่ทุกอย่างในคอมพิวเตอร์ถูกแปลงเป็น 0 และ 1 หรือที่เรียกว่าบิต ระบบดิจิทัลทำงานโดยการแปลงข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ภาษาของคอมพิวเตอร์ (binary) เพื่อให้ CPU สามารถอ่านและประมวลผลได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ, ภาพ หรือเสียง ทุกอย่างถูกแปลงให้เป็นตัวเลขแบบ binary เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจและทำงานกับข้อมูลนั้นได้

นี่คือพื้นฐานของการทำงานในโลกดิจิทัลที่เราต้องเข้าใจ เพราะมันเป็นรากฐานของทุกอย่างที่เราจะทำกับคอมพิวเตอร์

ระบบดิจิทัลช่วยให้เราสามารถเข้ารหัส, จัดเก็บ, ส่ง และประมวลผลข้อมูลในรูปแบบที่เร็วและแม่นยำ ด้วยความช่วยเหลือของ CPU และการจัดเก็บข้อมูลบน RAM และ Storage คอมพิวเตอร์ของเราสามารถทำงานซับซ้อนได้มากมาย ตั้งแต่การเขียนโค้ดไปจนถึงการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชัน

ดังนั้น ก่อนที่เราจะเริ่มต้นเรียนรู้การเขียนโปรแกรมและดำดิ่งลงไปในระดับต่างๆ ของการพัฒนาซอฟต์แวร์ เราต้องเข้าใจคอมพิวเตอร์อย่างลึกซึ้ง เริ่มจากการรู้จักกับ RAM, Storage, CPU และการทำงานของระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เราเข้าใจการทำงานของโปรแกรมและการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ดียิ่งขึ้น

การมีความเข้าใจในระดับที่ 0 นี้จะทำให้เราพร้อมสำหรับการเรียนรู้ทักษะการเขียนโปรแกรมและการพัฒนาซอฟต์แวร์ในระดับถัดไป เราจะสามารถเข้าใจได้ว่าทำไมโค้ดบางอย่างถึงทำงานได้เร็วหรือช้า และเราจะเริ่มเข้าใจว่าการออกแบบโปรแกรมหรือระบบนั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยอะไรบ้าง เพื่อให้ทั้งหมดนี้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัวและมีประสิทธิภาพนั่นเอง

🆓 ถ้าใครยังไม่มีความรู้พื้นฐานตรงนี้ ทาง borntoDev มีคอร์สฟรี “Introduction to Computer Science” เข้ามาเรียนกันได้เลย

แน่นอนว่าความรู้เบื้องต้นในการเขียนโปรแกรมไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม แม้ว่าหลายคนมาเรียนวันแรกอาจมีความตั้งใจว่าอยากจะสร้างแอปหรือพวกเกมเป็นของตัวเองได้ในทันที แต่ทุกอย่างมีขั้นตอนและพื้นฐานที่จำเป็นต้องศึกษาก่อน เช่นเดียวกับการสร้างบ้านที่ต้องมีรากฐานที่แข็งแรงก่อนที่จะสร้างสิ่งอื่น ๆ พื้นฐานตรงนี้ก็เหมือนกันเลยย

1. โครงสร้างของภาษาโปรแกรม (Programming Language Syntax)

การเรียนรู้ไวยากรณ์คือการเรียนรู้ภาษาใหม่เพื่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ ไม่ต่างจากการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับคนทั่วโลก ถ้าคุณไม่รู้ว่าคำว่า “if” หมายถึง “ถ้า” หรือ “for” คือ “สำหรับ” ในบริบทของการเขียนโค้ด เราจะสร้างโปรแกรมที่ทำงานตามที่ต้องการได้ยังไง ? เช่นเดียวกับการเรียนภาษา การเรียนรู้พวก Syntax โครงสร้าง และ วิธีการเขียนคำสั่งต่าง ๆ จะช่วยให้เราสร้างคำสั่งที่ถูกต้องในการบอกคอมพิวเตอร์ให้ทำงานใดงานหนึ่ง

“เพราะถ้าเราใส่คำสั่งผิด หรือ ข้อมูลที่ผิด เราก็จะได้ผลลัพธ์ที่ผิดกลับมา”

จากการที่เรารู้ตั้งแต่เบื้องต้นแล้วว่า “คอมพิวเตอร์ก็แค่อุปกรณ์ชิ้นนึงที่ทำงานบนระบบ Digital มีโมดูล ส่วนต่าง ๆ คอยวิเคราะห์ เก็บข้อมูลให้” แปลว่าสิ่งที่เขาทำได้ดีคือ “ทำตามสิ่งที่เราสั่ง” (แน่นอนมันไม่มีชีวิต หรือ ความคิดของตัวเอง) หากเราต้องการให้เขาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เราใส่สูตร ใส่คำสั่งไม่ถูก เราก็จะไม่ได้สิ่งที่ถูกต้องกลับมานั่นเอง

ตัวอย่างเช่น เราอาจต้องการเขียนโปรแกรมเพื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้า สูตรการคำนวณอาจเป็นแบบนี้:

ราคาสินค = 100
ภาษีมูลคาเพิ = 0.07
ราคาสุทธิ = ราคาสินค + (ราคาสินค * ภาษีมูลคาเพิ)
แสดงผลขอมูล(ราคาสุทธิ)

ในตัวอย่างนี้ เราต้องรู้จักวิธีการใช้ตัวแปรเพื่อเก็บค่าราคาสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม รู้จักการคำนวณพื้นฐาน และรู้วิธีการแสดงผลลัพธ์ออกมา นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ ในการใช้คำสั่ง หรือ โครงสร้างของภาษาโปรแกรมเพื่อสร้างคำสั่งที่ถูกต้องในการบอกคอมพิวเตอร์ให้ทำงานตามที่เราได้สั่งเขาไปนั่นเอง

ถ้าเราใส่คำสั่งผิด เช่น ลืมใส่สัญลักษณ์การคูณหรือเพิ่มเลขผิด เราก็จะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ตรงตามสิ่งที่เราต้องการ นี่เป็นเหตุผลที่เราต้องใส่ใจกับรายละเอียดของตัวโครงสร้างและคำสั่งต่าง ๆ ในภาษาโปรแกรมที่เราเลือกใช้นั่นเองงง !!

สำหรับมือใหม่ให้เลือกจับ 1 ภาษาให้ถนัดตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อให้เราคุ้นชินกับตัวภาษา และ การสั่งงานคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น Python ที่มีความง่ายสำหรับมือใหม่, JavaScript ที่ใช้ในการพัฒนาเว็บ หรือ Java ที่ใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันแบบต่างๆ เราควรใช้เวลาเรียนรู้และฝึกฝนกับภาษานั้นๆ จนกว่าเราจะรู้สึกสบายใจกับมัน จากนั้น การเรียนรู้ภาษาอื่นๆ ก็จะง่ายขึ้นตามไปด้วยเพราะหลักการพื้นฐานในการเขียนโปรแกรมนั้นจะเหมือนกัน

2. โครงสร้างข้อมูลพื้นฐาน (Basic Data Structures)

โครงสร้างข้อมูลเหมือนกับวิธีที่เราจัดเก็บหนังสือในห้องสมุด ถ้าเราเก็บหนังสือไว้ทุกที่โดยไม่มีการจัดระเบียบ เราก็จะจะหาหนังสือที่ต้องการไม่เจอ หรือ กว่าจะเจออาจจะต้องรอไปเป็นชาตินั่นเอง

ความรู้ด้านโครงสร้างข้อมูลเบื้องต้นจะช่วยงานเราได้มาก เช่น Arrays หรือ Lists ก็เหมือนกับการมีชั้นวางของในห้องครัว ที่เราสามารถจัดเรียงส่วนผสมไว้ให้เป็นระเบียบ เมื่อเราต้องการแป้ง เราก็รู้ว่าต้องไปหยิบที่ไหน ไม่ต้องวุ่นวายหาทั่วห้อง

ถ้าเราเขียนโปรแกรมเพื่อจัดการกับรายการของหนังสือในห้องสมุด เราอาจจะใช้ List เพื่อเก็บชื่อหนังสือ:

หนังสือในหองสมุด = ["Harry Potter", "The Lord of the Rings", "The Catcher in the Rye"]

List นี้ช่วยให้เราเข้าถึงหนังสือแต่ละเล่มได้อย่างง่ายดาย ถ้าเราต้องการหาหนังสือ “The Lord of the Rings” เราก็สามารถเช็คได้ว่ามันอยู่ใน list ของเราหรือไม่ และรู้ว่ามันอยู่ที่ไหน

หรือถ้าเราต้องการเก็บข้อมูลของนักเรียนพร้อมกับคะแนนสอบของพวกเขา เราอาจจะใช้ Dictionary ใน Python ซึ่งช่วยให้เราเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน เช่น ชื่อนักเรียนกับคะแนนสอบของพวกเขาได้ในลักษณะนี้

คะแนนสอบนักเรียน = {"จอห์น": 85, "เอมม่า": 92, "ลูก้า": 78}

การที่เรารู้จัก และ ใช้เจ้าตัว Dictionary เราจะสามารถเข้าถึงคะแนนสอบของ “เอมม่า” ได้อย่างรวดเร็วโดยใช้ชื่อของเธอเป็น key เพื่อเข้าถึงค่าคะแนนที่เราเก็บไว้ได้เลยนั่นเอง

การใช้โครงสร้างข้อมูลที่เหมาะสมจะทำให้การค้นหา, การอัปเดต หรือการจัดการข้อมูลของเรามีประสิทธิภาพขึ้นมาก นึกถึงมันเหมือนการมีห้องครัวที่เป็นระเบียบ และ นี่เป็นหนึ่งในเคล็ดลับที่สำคัญจัด ๆ เลย กับคำถามที่ว่า “ทำไม บางโปรแกรม ถึงเร็วกว่าบางโปรแกรม ทั้ง ๆ ที่เป็นโปรแกรมแบบเดียวกัน” เพราะโครงสร้างข้อมูลที่แตกต่างกันนั่นเอง

3. การควบคุมการไหลของโปรแกรม (Control Flow)

เพราะการทำงานตามเงื่อนไข หรือ การทำซ้ำไปซ้ำมา คืออีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้คอมพิวเตอร์ชนะมนุษย์ได้ ดังนั้นเรื่องพวกนี้คือเรื่องจำเป็นมาก ๆ ที่เราทุกคนต้องรู้ ไม่ว่าเราจะเขียนเกม เขียนเว็บ หรือ อะไรก็แล้วแต่บนโลก อันนี้สำคัญมาก ดาวล้านดวงเลย ! โดยเราจะไปเริ่มจาก

1. Loops (วนซ้ำ)

ลองนึกถึงเวลาที่เราต้องการทำอาหารสำหรับปาร์ตี้ และเราต้องการหั่นผัก 10 หัว ถ้าเราทำหนึ่งหัวต่อหนึ่งหัว นั่นคือการทำงานแบบไม่มี loop เราต้องบอกตัวเองทุกครั้งว่า “หั่นผักหัวนี้ แล้วหั่นหัวต่อไป แล้วก็หั่นอันนู้นอีก อันนั้นอีกด้วย” แต่ถ้าเราใช้ loop เราก็แค่บอกว่า “หั่นผักหัวนี้แล้วทำซ้ำไปจนกว่าจะครบ 10 หัว” ง่ายขึ้นเยอะเลยใช่มะ 555

2. Conditional Statements (คำสั่งเงื่อนไข)

ลองคิดว่าตอนนี้เราอยู่ในปาร์ตี้แล้ว และเราต้องการเสิร์ฟเครื่องดื่มตามอายุของแขก ถ้าแขกอายุมากกว่า 20 ปี เราจะเสิร์ฟไวน์ แต่ถ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 ปี เราจะเสิร์ฟน้ำอัดลม นี่คือตัวอย่างของการใช้คำสั่งเงื่อนไข โดยเราตั้งเงื่อนไขเพื่อตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไปในโปรแกรมของเรา

“ซึ่งการเขียนโปรแกรมมีส่วนที่ทำตามเงื่อนไขเยอะมาก ๆ ตั้งแต่การ Login เข้าสู่ระบบ ที่ต้อง Username และ Password ถูกต้องเท่านั้น ถึงสามารถเข้าสู่ระบบได้ จนไปถึงการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานเลยทีเดียว”

3. Functions (ฟังก์ชัน)

ฟังก์ชันก็เหมือนกับสูตรอาหารในหนังสือทำอาหาร ถ้าเราต้องการทำคุกกี้ แทนที่จะต้องเขียนสูตรทำคุกกี้ทุกครั้งที่เราต้องการ ฟังก์ชันช่วยให้เราสามารถ ‘เรียก’ สูตรนั้นได้เมื่อใดก็ตามที่เราต้องการทำคุกกี้ ฟังก์ชันช่วยลดการซ้ำซ้อนของโค้ดและทำให้โปรแกรมของเราเข้าใจง่ายขึ้น

ตัวอย่างเช่น เรามีฟังก์ชัน ทำคุกกี้() ที่รวมทุกขั้นตอนและส่วนผสมที่จำเป็น ทุกครั้งที่เราต้องการทำคุกกี้ เราแค่ต้องเรียกใช้ ทำคุกกี้() และเราจะได้คุกกี้ออกมาโดยไม่ต้องเขียนรายละเอียดทั้งหมดทุกครั้ง

การเรียนรู้และใช้งาน loops, conditional statements และ functions จะทำให้การเขียนโปรแกรมของเราไม่เพียงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังช่วยให้โค้ดของเราสะอาดและเข้าใจง่ายขึ้นด้วย และ อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องบอกกันตรง ๆ คือ

“สำหรับการเริ่มเขียนโปรแกรม 3 หัวข้อที่บอกมา ทั้งวนซ้ำ เงื่อนไข ฟังก์ชัน ไอพวกนี้ยากที่สุดแล้วว 555”

แต่ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น แค่เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกฝนและพัฒนาทักษะที่ชื่อว่า Problem Solving ให้เซียน ๆ โดย เรามาดูกันว่าเราสามารถทำอย่างไรเพื่อเสริมสร้างทักษะเหล่านี้ให้ดีขึ้นขึ้น

การฝึกฝนก็มีตั้งแต่..

การสร้างสถานการณ์หรือปัญหาที่หลากหลายเพื่อทดสอบและพัฒนาความเข้าใจของเรา ลองคิดโจทย์เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการใช้งาน loops, conditional statements และ functions และพยายามแก้ไขด้วยตัวเอง เช่น

  • สร้างโปรแกรมที่พิมพ์ตัวเลขจาก 1 ถึง 10 โดยใช้ loop สักตัวนึง
  • สร้างโปรแกรมที่ตรวจสอบว่าตัวเลขที่ผู้ใช้ป้อนเข้ามาเป็นเลขคู่หรือเลขคี่ อะไรแบบนี้
  • สร้างฟังก์ชันที่คำนวณและแสดงผลรวมของตัวเลขหลายๆ ตัวที่ผู้ใช้ป้อนเข้ามา ที่เราคุ้นเคย

การทำโจทย์เหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจการใช้งาน control flow ในสถานการณ์จริง และเมื่อเราเจอปัญหา เราจะสามารถคิดหาวิธีแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ซึ่งบางโจทย์อาจจะใช้เวลาแค่ 5 นาที จนไปถึง 3 – 5 วันเลยทีเดียว

ความเข้าใจเรื่องทักษะ Problem Solving

ไม่เพียงแต่เกี่ยวกับการรู้เทคนิคหรือไวยากรณ์ คำสั่งต่าง ๆ เวลาเขียนโปรแกรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสามารถวิเคราะห์ปัญหาและหาวิธีแก้ไขได้อย่างเป็นระบบ เราต้องฝึกฝนตัวเองให้สามารถ

  • ระบุและแยกแยะปัญหา: ทำความเข้าใจกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญ แยกมันออกเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น
  • ออกแบบแผนการแก้ไข: คิดว่าเราจะใช้อะไรให้โปรแกรมทำงาน จะควบคุม control flow อย่างไรในการแก้ปัญหานี้ วางแผนการทำงานของโปรแกรม
  • ทดลองและปรับปรุง: เมื่อเรามีแผนแล้ว ลองเขียนโค้ดตามแผนนั้น และทดสอบเพื่อดูว่ามันทำงานอย่างที่เราต้องการหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ต้องปรับปรุงแผนและโค้ดให้ดีขึ้น

การฝึกฝนและพัฒนาทักษะเหล่านี้จะทำให้เรากลายเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่แข็งแกร่ง ที่ไม่เพียงแค่เขียนโค้ดได้ แต่ยังสามารถแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์โซลูชันที่มีประสิทธิภาพได้อีกด้วย จำไว้ว่าการเป็นนักพัฒนาที่ดีไม่ใช่เรื่องของการเขียนโค้ดที่ทำงานได้เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพนั่นเอง

4. การจัดการข้อผิดพลาด (Error Handling)

เรียนรู้การจัดการกับข้อผิดพลาดคือการเรียนรู้วิธีการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในโปรแกรมของเรา เพราะไม่มีโปรแกรมไหนที่สมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับชีวิต การเรียนรู้วิธีรับมือกับข้อผิดพลาดช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาและทำให้โปรแกรมของเรามีความเสถียรมากขึ้น

การจัดการข้อผิดพลาด

ลองนึกภาพว่าเรากำลังทำกับข้าว หรือ ขนมสักอย่าง แล้วเราลืมใส่น้ำตาล เราอาจจะไม่รู้ตัวจนกว่าเราจะชิมมันแล้วรู้สึกว่ามันไม่หวาน ในโปรแกรมมิ่งข้อผิดพลาดก็เหมือนกับการลืมใส่น้ำตาล แต่เรามีเครื่องมือที่ช่วยให้เรา “ชิม” ก่อนที่จะเสิร์ฟมันให้กับผู้ใช้ เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้เราจับและจัดการกับข้อผิดพลาดได้นั่นเอง

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเขียนโค้ดที่คาดว่าผู้ใช้งานจะกรอกตัวเลขมา แต่ผู้ใช้กลับใส่ข้อความแทน โปรแกรมของเราจะต้องรู้จักวิธีจัดการกับสถานการณ์นี้ โดยปกติเราจะใช้ “try-except” block ในการจับและจัดการข้อผิดพลาด เช่นโค้ดตามตัวอย่างนี้:

try:
    ตัวเลข = int(input("กรุณาใส่ตัวเลข: "))
except ValueError:
    print("นั่นไม่ใช่ตัวเลข!")

การดีบัก (Debug)

มันเหมือนกับการเป็นนักสืบที่ตามหาสาเหตุที่ทำให้ขนมของเราไม่อร่อย เราอาจจะใช้ print statements เพื่อ “ตรวจสอบส่วนผสมต่าง ๆ ” ที่เราใช้ในโปรแกรมของเรา หรือใช้เครื่องมืออื่น ๆ เช่นพวก debugger ที่ซับซ้อนขึ้นเพื่อ “ทดลองทำเค้ก” ทีละขั้นตอน เพื่อดูว่าที่ไหนที่เราทำผิดพลาด

ตัวอย่างการใช้ print statement ในการดีบัก ก็จะเป็นประมาณนี้:

ตัวเลข1 = 5
ตัวเลข2 = 0
print(f"กำลังจะหาร {ตัวเลข1} ด้วย {ตัวเลข2}")
try:
    ผลลัพธ= ตัวเลข1 / ตัวเลข2
except ZeroDivisionError:
    print("ไม่สามารถหารด้วยศูนย์ได้!")

ในตัวอย่างนี้ เราใช้ print statement เพื่อช่วยให้เราเห็นว่าเรากำลังพยายามทำอะไรกับตัวแปรต่างๆ ซึ่งช่วยให้เราระบุได้ว่าข้อผิดพลาดเกิดขึ้นที่การพยายามหารด้วยศูนย์

การจัดการข้อผิดพลาดและการดีบักเป็นส่วนสำคัญของการเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ มันเหมือนกับการมีเครื่องมือในการช่วยให้เรา “ชิมเค้ก” และ “ปรับสูตรเค้ก” ของเราให้ดีที่สุดก่อนที่เราจะนำเสนอมันให้กับโลก เพราะฉะนั้น อย่ากลัวที่จะล้มเหลวหรือเจอกับข้อผิดพลาด เพราะทุกครั้งที่เราแก้ไขมัน เรากำลังเรียนรู้และก้าวหน้าไปอีกขั้นในการเป็นนักพัฒนาที่ยอดเยี่ยมนั่นเอง!

ที่ระดับนี้ เราจะได้สัมผัสกับโครงสร้างข้อมูลที่ซับซ้อนขึ้น และอัลกอริธึมที่ท้าทายมากขึ้น ที่สำคัญ การเรียนรู้เรื่องเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น และ ลงรายละเอียดถึงหน่วยย่อย ๆ ของการทำงาน “เพราะในระดับที่ 1 เราจะได้โปรแกรมที่ทำงานได้ แต่ในระดับที่ 2 นี้ เราจะรู้ว่าโปรแกรมที่ทำงานได้ดี และ ซับซ้อน มันเป็นยังไงนั่นเอง”

โครงสร้างข้อมูลขั้นสูง

เหมือนเป็นช่วงเวลาที่เราจะเริ่มสำรวจดินแดนใหม่ๆ ในโลกของการเขียนโปรแกรมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เราจะมาดูกันว่า “Trees”, “Graphs” และ “Hash Tables” (รวมถึงตัวอื่นๆ) มันเป็นยัไงง และทำไมพวกเขาถึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์สักตัวนึง

Trees

ลองนึกภาพว่าเรากำลังจัดวางหนังสือตามเรื่องราวครอบครัวของตัวละครในนิยาย โดยแต่ละเล่มหนังสือจะเป็นสมาชิกหนึ่งคนในครอบครัว และเราจะจัดเรียงพวกเขาไว้บนชั้นหนังสือตามลำดับความสัมพันธ์ของพวกเขา นี่คือการใช้โครงสร้างข้อมูลแบบ “Tree” ที่ช่วยให้เราจัดเก็บและนำเสนอข้อมูลที่มีความสัมพันธ์แบบ “พ่อ-แม่-ลูก” หรือ “ปู่-ย่า-ตา-ยายกับหลาน” ได้เป็นอย่างดี และ ลองนึกภาพตามดี ๆ ว่าถ้าเราเก็บข้อมูลพวกนี้แบบ Array หรือ List ก่อนหน้า หรือ ใส่ไว้ในตัวแปรตรง ๆ เป็น String เราคง “งง” น่าดูเลยจริงมั้ยคร้าบ 🤣

Graph

สมมติว่าเรากำลังจัดงานปาร์ตี้และต้องการรู้ว่าใครบ้างที่รู้จักกัน เพื่อจัดที่นั่งให้ทุกคนสามารถพูดคุยกับคนที่รู้จักกันได้ ในกรณีนี้ การใช้ Graphs จะช่วยให้เราสร้างแผนที่ความสัมพันธ์ระหว่างแขกที่มาร่วมงาน โดยแต่ละจุด (Node) คือแขกคนหนึ่ง และเส้นเชื่อม (Edge) ระหว่างจุดแสดงถึงความสัมพันธ์ (เช่น รู้จักกัน, ไม่รู้จักกัน หรือ เป็นแฟนเก่ากัน เอ้ยย) ระหว่างพวกเขา ซึ่งเทคนิคพวกนี้นำไปใช้สร้างพวกระบบ Social Network ต่าง ๆ จนถึง AI ก็ทำได้

Hash Table

นึกถึงเมื่อเราต้องการหาหนังสือในห้องสมุดที่มีหนังสือมากมาย ถ้าห้องสมุดนั้นมีระบบจัดเก็บที่ดี เราสามารถใช้ชื่อหนังสือเพื่อหามันได้ทันทีโดยไม่ต้องเดินหาทีละชั้น นี่คือหลักการของ Hash Tables ที่ใช้ “key” (ในที่นี้คือชื่อหนังสือ) เพื่อเข้าถึง “value” (ตำแหน่งหนังสือ) ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้การค้นหาและการเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องง่ายดายนั่นเอง

การทำความเข้าใจและการใช้งานโครงสร้างข้อมูลขั้นสูงเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้โปรแกรมของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังช่วยให้เราสามารถจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างดี

ต่อด้วย Algorithm

เรามาลงลึกกันหน่อยเกี่ยวกับเรื่องอัลกอริธึม ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจจะฟังดูหนักหน่อยสำหรับใครหลายๆ คน แต่ถ้าเราเปรียบเทียบมันกับการทำกิจวัตรประจำวัน เราอาจจะเริ่มเห็นภาพว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่คิด

การค้นหา

เริ่มที่การค้นหา ลองนึกว่าเรากำลังหากุญแจในบ้านที่รกๆ หน่อย เราอาจจะเริ่มจากห้องนั่งเล่น จากนั้นไปครัว และต่อไปยังห้องนอน นี่คืออัลกอริธึมการค้นหาแบบ “เส้นตรง” หรือ Linear Search ที่เราตรวจสอบทีละอย่างจนกว่าจะเจอกุญแจนั้น

แต่ถ้าเราจำได้ว่าเรามักจะวางกุญแจไว้ใกล้ๆ ประตูหน้าบ้านเสมอ เราอาจจะเริ่มค้นหาจากที่นั่นก่อน นี่คือการปรับปรุงอัลกอริธึมการค้นหาของเราให้มีประสิทธิภาพขึ้นนั่นเอง

การเรียงลำดับ

ต่อมาคือการเรียงลำดับ ลองนึกถึงเวลาที่เรากำลังจัดหนังสือบนชั้น เราอาจจะเรียงตามตัวอักษร A-Z หรือตามหมวดหมู่ นี่คืออัลกอริธึมการเรียงลำดับแบบพื้นฐาน เช่น Bubble Sort หรือ Quick Sort ซึ่งมีวิธีการที่แตกต่างกันในการจัดเรียงข้อมูลให้อยู่ในลำดับที่เราต้องการซึ่งในโลกนี้มี Sort อยู่เพียบให้เราเรียนแบบจุก ๆ เลยนะ 🥺

การวิเคราะห์ความซับซ้อนของอัลกอริธึม

สุดท้าย การวิเคราะห์ความซับซ้อนของอัลกอริธึม นี่เหมือนกับการเลือกวิธีที่ดีที่สุดในการจัดเก็บหรือค้นหาของในบ้าน เช่น ถ้าเรามีหนังสือเพียงไม่กี่เล่ม เราอาจจะไม่ต้องการระบบจัดเรียงที่ซับซ้อน แต่ถ้าหนังสือมีหลายพันเล่ม เราต้องการระบบที่ช่วยให้เราค้นหาหนังสือได้เร็วที่สุด การเข้าใจความซับซ้อนของอัลกอริธึมช่วยให้เราเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับขนาดของปัญหา

การเรียนรู้และฝึกฝนอัลกอริธึมเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยให้เราคิดเกี่ยวกับปัญหาและข้อมูลในวิธีที่เราไม่เคยคิดมาก่อน เราจะเริ่มเห็นโครงสร้างและรูปแบบที่ช่วยให้เราเข้าใจว่าข้อมูลสามารถจัดเรียงและเข้าถึงได้อย่างไรในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง

แล้วก็ตามมาด้วย OOP

การเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ (Object-Oriented Programming – OOP) เป็นหนึ่งในความเข้าใจพื้นฐานที่ช่วยให้เราสร้างโปรแกรมที่มีโครงสร้างและสามารถนำไปใช้ซ้ำได้ เหมือนกับการวางระบบอะไรสักอย่าง แล้วเราก็แค่ทำซ้ำ หรือ ใช้งานมันเท่านั้น ซึ่งถ้าเราออกแบบไว้ดี ระบบต่าง ๆ เราสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ ลดความซ้ำซ้อน และ ซับซ้อนลงไปได้เยอะมากกก กอไก่ล้านตัวเลยทีเดียว ซึ่งก็มีเรื่องที่ต้องรู้ไม่ว่าจะเป็น

Class และ Object

“Class” เหมือนกับแบบจำลองหรือแม่พิมพ์ในการสร้างบ้านจากเลโก้ มันบอกเราว่าบ้านนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง เช่น ประตู, หน้าต่าง, หลังคา อะไรแบบนี้

ส่วน “Object” คือบ้านที่สร้างขึ้นจากแม่พิมพ์หรือ class นั้นๆ เราสามารถสร้างบ้าน (object) หลายหลังจากแม่พิมพ์เดียวกัน (class) โดยแต่ละหลังสามารถมีลักษณะเฉพาะตัวเช่น สีหลังคา หรือจำนวนหน้าต่างที่แตกต่างกัน

Inheritance (การสืบทอด)

การสืบทอดใน OOP เหมือนกับการที่เราสร้างบ้านรุ่นใหม่จากบ้านเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยบ้านรุ่นใหม่นี้จะรับคุณสมบัติทั้งหมดจากบ้านเดิม เช่น มีหน้าต่างและประตู แต่เรายังสามารถเพิ่มหรือแก้ไขลักษณะเฉพาะตัวเพื่อให้ตอบสนองความต้องการใหม่ๆ เช่น เพิ่มสระว่ายน้ำ อะไรแบบนี้ก็ทำได้

Polymorphism

Polymorphism ใน OOP เหมือนกับการที่บ้านเลโก้ของเราสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันของห้องได้ตามความต้องการ เช่น ห้องเดียวกันอาจใช้เป็นห้องนอนในบ้านหนึ่ง แต่ใช้เป็นห้องทำงานในบ้านอีกหลังหนึ่ง Polymorphism ทำให้ objects จาก class เดียวกันสามารถมี “พฤติกรรม” (methods) ที่แตกต่างกันได้ตาม context หรือสถานการณ์ที่ใช้งาน

ซึ่งเอาจริง ๆ แล้ว Concept ของ OOP นี่ยาวมาก เรียนกันได้ทั้งเทอม แต่เอาไว้ให้เห็นคร่าว ๆ ในตอนนี้ก่อนว่าจะต้องเรียนอะไรกันต่อ

และ ไปจบที่การทำ Software Testing

หลายครั้งเราไม่รู้ว่าโปรแกรมที่เราสร้างมานั้น ดี หรือ ไม่ดี หรือ ตรงกับความต้องการหรือไม่ ? การที่เราเรียนรู้ และ เข้าใจทักษะ Software Testing จะทำให้เราเห็นภาพรวมในการทำ Software สักตัวนึงขึ้นมา ซึ่งตรงนี้จะรวมถึง Process หรือ กระบวนการทดสอบต่าง ๆ และ การทำ Unit Testing หรือ การทดสอบแบบเล็ก ๆ ว่า Method / Function ที่เราสร้างทำงานได้มั้ย และ การทำในระดับที่ใหญ่กว่า หรือ การเขียนโปรแกรมให้มีการทดสอบอัตโนมัติ (Automate Testing) ได้นั่นเอง

เมื่อเราก้าวเข้าสู่ระดับขั้นสูงในการพัฒนาซอฟต์แวร์ มันก็จะเหมือนกับว่าเรานั้นจะไม่ได้แค่เรียนวิธีใช้เครื่องมืออีกต่อไป แต่เราเริ่มเรียนรู้วิธีสร้างเครื่องมือของเราเอง และทำให้มันทำงานได้ดีที่สุด โดยเรามาดูกันว่าในแต่ละส่วนของระดับขั้นสูงนี้ เราสามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง และทำไมมันถึงสำคัญ

“อ๋อ ! แล้วจะต้องบอกว่า ระดับสูงในที่นี้ ไม่ใช่แบบเข้าใจเรื่องพวกนี้แล้วคือเก่งเทพอะไรนะ แต่เป็นการต่อยอดจากพื้นฐานระดับก่อน ๆ มารวมกับความรู้เพื่อที่จะประยุกต์ใช้ได้แล้วนั่นเอง”

หรือ เรียกง่าย ๆ ว่า “ระดับสูงในที่นี้ก็คือ ระดับที่หยิบไปใช้ ไปสร้างสรรค์ ไปต่อยอดกับส่วนต่าง ๆ เพื่อทำงานกันจริง ๆ นั่นเอง” โดยจะมีความรู้ที่จำเป็นหลายตัวเลย ไม่ว่าจะเป็น

การออกแบบและการใช้งาน API

API หรือ Application Programming Interface เป็นสิ่งที่ช่วยให้โปรแกรมหนึ่งๆ สามารถ “พูดคุย” กับโปรแกรมอื่นๆ ได้ เหมือนกับว่าเรามีชุดคำสั่งสำหรับส่งจดหมายไปยังเพื่อนบ้าน ทำให้เราสามารถแบ่งปันข้อมูลหรือฟังก์ชันการทำงานโดยไม่ต้องเปิดเผยรายละเอียดภายในของโปรแกรม

เราจำเป็นต้องรู้เรื่องนี้เพราะมันช่วยให้เราสร้างโปรแกรมที่สามารถทำงานร่วมกับโปรแกรมอื่นได้อย่างง่าย ๆ และเปิดโอกาสให้เราสามารถต่อยอด หรือ ให้บริการข้อมูลกับระบบอื่น ๆ ได้ด้วย

การออกแบบซอฟต์แวร์และพัฒนา

เมื่อพูดถึงหลักการออกแบบโปรแกรม จะมีหลักการที่มีชื่อมากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น SOLID, DRY, YAGNI และ patterns ต่าง ๆ ในการออกแบบ

เรากำลังพูดถึงกฎเกณฑ์ในการพัฒนาระบบขึ้นมาสักตัว และ แนวทางที่ช่วยให้เราสร้างโปรแกรมที่ไม่เพียงแต่ทำงานได้ แต่ยังง่ายต่อการดูแลรักษา ปรับเปลี่ยน และ ขยายในอนาคต เรื่องพวกนี้มันเหมือนกับการสร้างบ้านที่ไม่เพียงแค่อยู่อาศัยได้ แต่ยังออกแบบมาให้สามารถปรับเปลี่ยนหรือขยายเพิ่มได้ง่ายเมื่อครอบครัวของเรามีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นได้อีกด้วยนั่นเอง

ระบบฐานข้อมูลและการจัดการข้อมูล

การเข้าใจและใช้งานระบบฐานข้อมูล เช่น SQL และ NoSQL พวกนี้จะช่วยให้เราจัดเก็บ, ค้นหา และจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องรู้เรื่องนี้เพราะข้อมูลคือหัวใจสำคัญของแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลลูกค้า, สินค้าในสต็อก หรือแม้แต่ผลลัพธ์การ Research ต่าง ๆ

การจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เรานำเสนอบริการที่ดีขึ้นและตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น

ความปลอดภัยของโปรแกรม

และ สุดท้าย การเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันการโจมตีและการรักษาความปลอดภัยข้อมูล เป็นเหมือนการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์และกล้องวงจรปิดในบ้านของเรา เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนไม่พึงประสงค์เข้ามา ในโลกดิจิทัลที่ข้อมูลมีค่ามากขึ้นเรื่อยๆ

การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลไม่เพียงแต่ปกป้องข้อมูลของเราเอง แต่ยังรวมถึงข้อมูลสำคัญของผู้ใช้หรือลูกค้าของเราด้วย การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคต่างๆ เช่น การเข้ารหัสข้อมูล, การจัดการกับสิทธิ์การเข้าถึง และการป้องกันการโจมตีทางเว็บ เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างแอปพลิเคชันที่ไม่เพียงแต่มีประสิทธิภาพ แต่ยังปลอดภัยและน่าเชื่อถือด้วยนั่นเอง

ในระดับเฉพาะด้าน (Expert) นี้จะเป็นการแยกเฉพาะตามความสนใจ หรือ สายงานหลัก ๆ เพราะไม่ใช่ว่า Software Developer คนเดียวจะทำงานได้ทุกอย่าง แต่ละสายจะมีความเฉพาะของตัวเอง เช่น Mobile App ที่ทำแอปบนมือถือจะมีบางเรื่องที่ต้องรู้ที่แตกต่างกับ Web App ซึ่งตรงนี้ก็จะมีหมวดหมู่หรือสายแยกออกไปตามความเป็นไปได้ที่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น

การพัฒนาแอปพลิเคชันข้ามแพลตฟอร์ม

ถ้าเราอยู่ในสายงานการพัฒนาแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็น Mobile หรือ Web, การเข้าใจและการใช้งาน frameworks สำหรับการพัฒนาข้ามแพลตฟอร์ม เช่น React Native หรือ Flutter, จะช่วยให้เราสามารถสร้างแอปที่ทำงานได้ทั้งบน iOS และ Android จากฐานโค้ดเดียวกัน นี่เป็นทักษะที่ตลาดต้องการอย่างมาก เพราะมันช่วยให้บริษัทสามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแอปได้

คลาวด์คอมพิวติ้งและ DevOps

สำหรับเราที่ทำงานในด้านคลาวด์คอมพิวติ้งและ DevOps, การใช้งาน cloud services อย่าง AWS หรือ Google Cloud รวมถึงการจัดการ infrastructure ผ่าน code ด้วยเครื่องมือเช่น Terraform หรือ Kubernetes เป็นทักษะที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราสร้างและบริหารจัดการระบบที่มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นได้ดี แต่ยังช่วยให้เราสามารถนำเสนอโซลูชันที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้รวดเร็วขึ้น

การประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่

และสำหรับใครที่หลงใหลในข้อมูล การทำงานกับ big data และการใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น Hadoop หรือ Spark รวมถึง Machine Learning และ data analytics ไม่เพียงแต่เปิดโลกใหม่ในการค้นพบและสร้างความรู้จากข้อมูลขนาดใหญ่ แต่ยังช่วยให้เราสามารถนำเสนอโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจในยุคใหม่ได้

Web Development

เมื่อเราพูดถึงการพัฒนา Web App เราจะมีหน้าที่ทั้งออกแบบและพัฒนา Web App ที่สามารถรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก, มีประสิทธิภาพสูง และมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ เรายังต้องมีความเข้าใจในการทำ SEO, การวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้งานเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้ (UX) และการทำให้แอปพลิเคชันสามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคน ซึ่งในตัวงานจริง ๆ ก็อาจจะมีแตกออกไปเป็นงานย่อย ๆ ในหมวดนี้ได้ เช่น Front-end ที่ทำหน้าตาหน้าบ้าน หรือ Back-end ในการจัดการระบบหลังบ้านนั่นเอง

Mobile App Development

สำหรับการพัฒนา Mobile App เราต้องมีความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับการออกแบบ UI/UX ที่เหมาะสมกับอุปกรณ์พกพา รวมถึงการทำงานกับเซนเซอร์ต่างๆ, การจัดการแบตเตอรี่ที่เหมาะสม และการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในอุปกรณ์เหล่านั้น เข้าใจ State และ Life Cycle ในการทำงานของ Application

AI Development

จะต้องมีความรู้เช่นการสร้างโมเดลที่สามารถเรียนรู้และปรับปรุงตัวเองได้ เราต้องศึกษา ทำความเข้าใจในเทคนิค Machine Learning และ Deep Learning ที่ซับซ้อน รวมถึงการใช้งานเครื่องมือและแพลตฟอร์มที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนา AI ที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ เรายังต้องรู้จักวิธีการประยุกต์ใช้ AI เพื่อแก้ปัญหาในโลกของเราได้ เช่น การจดจำภาพ, การประมวลผลภาษาธรรมชาติ หรือการสร้างระบบแนะนำสินค้าต่าง ๆ

ในระดับเชี่ยวชาญนี้ เราอาจจะไม่ต้องเข้าใจทุกเรื่องอย่างลึกซึ้ง แต่การเลือกเข้าใจเฉพาะเรื่องในสายงานของเราจะช่วยให้เราเชี่ยวชาญและมีค่าตัวที่แพงขึ้นได้เช่นกัน หรือ บางคนเลือกที่จะหยิบ 2 หมวด เช่น AI + Web Dev ก็จะยิ่งมีความแตกต่างกับ Developer คนอื่น ๆ ในตลาดเพิ่มไปอีก ท่านี้ก็สามารถทำได้เช่นกันคร้าบ

นี่คือขั้นตอนที่เราไม่เพียงแค่ใช้ความรู้ที่มีอยู่ในการสร้างสรรค์ผลงานหรือแก้ปัญหา แต่เรายังก้าวไปข้างหน้าด้วยการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงวิธีที่เรามองโลกได้เลยทีเดียว

การทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ๆ

ลองนึกถึง blockchain เทคโนโลยีที่สามารถสร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในระบบที่ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง หรือ deep learning ที่เปิดโอกาสให้เครื่องจักรเรียนรู้และเข้าใจโลกได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในระดับนี้ เราไม่เพียงแต่เรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านี้ แต่เรายังค้นหาวิธีใช้งานใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่มีใครคิดถึงมาก่อน

การวิจัยและพัฒนา (R&D)

ส่วนนี้จะไม่ใช่เรื่องของการทำให้ดีขึ้นอน่างเดียว แต่ยังเกี่ยวกับการทดลองและล้มเหลว เพื่อค้นพบอะไรบางอย่างที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโปรโตคอลใหม่ๆ หรือการทดลองกับแนวคิดใหม่ๆ ที่อาจจะนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่เคยมีมาก่อนก็ได้เช่นกัน

การสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ

ในระดับนี้ เราไม่เพียงแต่ทำงานในห้องทดลองหรือเขียนโค้ดอยู่หลังคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่เรายังนำไอเดียที่เรามีไปสู่การผลิต หรือ สร้างของขึ้นมาจริง ๆ จริง เช่น เราอาจจะออกแบบเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหรือเปิดโอกาสใหม่ๆ ในตลาดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนก็อยู่ในหมวดนี้เช่นกัน

การอยู่ในระดับนวัตกรรมและการวิจัยหมายความว่าเรามีโอกาสไม่เพียงแต่เพิ่มความรู้ในสายงานของเรา แต่ยังสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ๆ, การสร้างโปรโตคอลที่ปรับปรุงความปลอดภัยของข้อมูล หรือแม้กระทั่งการคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลสำคัญๆ ที่ซ่อนอยู่

การทำงานในระดับนี้อาจไม่ใช่สำหรับทุกคน เพราะมันต้องการความเข้าใจที่ลึกซึ้งและความสามารถในการทดลองและยอมรับความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ แต่สำหรับเราที่ต้องการเติบโตในเฉพาะทางจริง ๆ และ เพิ่มมูลค่าของตัวเราให้มากขึ้นในตลาดสายงานเดฟ หรือแม้กระทั่งต้องการเปลี่ยนแปลงโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ “ระดับนวัตกรรมและการวิจัย” นี้อาจจะเป็นคำตอบของเราเลยก็ว่าได้

ในท้ายที่สุด การเดินทางในโลกของการพัฒนาซอฟต์แวร์ไม่เคยมีจุดสิ้นสุด แต่ละระดับของการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะใหม่ๆ คือการเดินทางที่สร้างสรรค์และมีค่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในระดับใด การยังคงเรียนรู้ การทดลอง และการไม่ยอมหยุดนิ่งคือกุญแจสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จในอนาคต ดังนั้นแอดเปรมขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนสู้กันต่อไปนะคร้าบบ

และ ถ้าหากใครกำลังศึกษาการเขียนโปรแกรมพื้นฐานอยู่ หรือ กำลังสับสนในเส้นทาง สามารถติดต่อแอดและทีมงานได้เลย เราพร้อมให้คำปรึกษาแบบสุดติ่งกระดิ่งแมว สำหรับใครที่มี Passion อย่างเต็มที่คร้าบ 🔥

Kittikorn Prasertsak (Prame)

Author Kittikorn Prasertsak (Prame)

Founder @ borntoDev

More posts by Kittikorn Prasertsak (Prame)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้สำหรับการติดตามทางการตลาด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นในการใช้งานเพื่อการวิเคราะห์ และ นำเสนอโปรโมชัน สินค้า รวมถึงหลักสูตรฟรี และ สิทธิพิเศษต่าง ๆ คุณสามารถเลือกปิดคุกกี้ประเภทนี้ได้โดยไม่ส่งผลต่อการทำงานหลัก เว้นแต่การนำเสนอโปรโมชันที่อาจไม่ตรงกับความต้องการ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า