สวัสดีครับกลับมาพบกับผมเอฟ borntoDev วันนี้ผมอยู่ที่งาน Microsoft Build: After Party – Thailand ที่จัดขึ้นที่ออฟฟิศของ Microsoft และมีออนไลน์ด้วยนะโดยงานนี้จะเป็นงานสรุปเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ Microsoft ได้ประกาศมาในงาน Microsoft Build 👨🏻💻
งาน Microsoft Build คืออิหยัง
Microsoft Build เป็นงานประชุมประจำปีที่จัดขึ้นโดย Microsoft สำหรับเหล่าเดฟ (ทั้งโค้ดและ No code Low Code) ที่ใช้ Windows, Microsoft Azure และเทคโนโลยีอื่น ๆ ของ Microsoft สามารถดูย้อนหลังได้ที่ลิงก์นี้ครับ https://build.microsoft.com/en-US/home
โอเคครับถ้าพร้อมแล้วเดี๋ยวเรามาดูกันเลยว่าในงาน Microsoft Build: After Party – Thailand มึใครหยิบอะไรเด่นมาเล่าให้พวกเราฟังกันบ้าง ไปดูกันครับ 🚀
เขียนโดย
Sirasit Boonklang (Aeff)
Tech and Coding Consultant
Session 1 : Introducing Microsoft Build and keynote
สำหรับ Session แรกจะเป็นการสรุป Keynote จากงาน Microsoft Build ว่าเราจะเอา AI จะมาช่วยสร้างอะไรให้ให้ตอบโจทย์ธุรกิจได้บ้างโดยหลัก ๆ เน้นไปที่การสร้างแพลตฟอร์สสำหรับเดฟในรูปแบบการทำงานยุคใหม่ที่มีการนำ AI มาช่วยงาน และการเตรียมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เอาไว้ให้พร้อมเดฟมากที่สุดไม่ว่าจะเป็น Codespaces, Microsoft DevBox, Copilot, GitHub Action + Azure Deployment Environment
- Codespaces ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เดฟสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ลดเวลาในการจัดการ Infra สร้างและจัดการ VM รวมไปถึงเรื่อง Security ที่จะถูกดูแลโดย Microsoft แล้ว ทำให้การจัดการพวกปัญหา Security Legacy ลดไปได้เยอะ
- Microsoft DevBox เป็นเหมือน VM ที่ Microsoft เตรียมสภาพแวดล้อมเอาไว้ให้พร้อมเดฟแล้ว
- Microsoft พยายามทำให้เป็น Infrastructure as Code
- GitHub Copilot มีจุดเด่นที่น่าสนใจกว่า ChatGPT คือมันเข้าใจ Context ของโค้ดในโปรเจกต์ที่เราเขียนอยู่เช่น เราเขียน module A กับ B ไว้มันสามารถช่วยเขียน module C ต่อให้ได้
- GitHub Action ช่วยให้การ Deploy ทำงานได้แบบอัตโนมัติและยังเหมาะกับการเอาไปใช้งานในการ Deploy แบบรวดเดียวจบผ่าน IaC
- ตอนนี้อะไรที่มี Logo Microsoft ทาง Microsoft พยายามจะยัด AI ใส่ไปใน Product ต่าง ๆ แม้แต่ Surface ก็ยังไม่รอด นอกจากนั้นยังมีอัปเดตอีกกว่า 50 อย่าง แต่ที่เด่น ๆ คือ Bing ที่เป็น Search Engine ที่ตอนนี้มีทั้งใน Bing เอง, ไปอยู่บน ChatGPT หรือแม้กระทั้งอยู่ใน Windows ของเรา (ถ้าใช้เป็น Windows 11) และนี่ก็คือความพยายามที่ Microsoft กำลังพยายามสร้าง Ecosystem
- พูดถึง Windows ไปแล้ว ก็มีอีกอย่างที่เปิดตัวมานั่นก็คือ Windows Co-pilot ที่เป็นการเอา AI มาใส่ไว้ใน Windows 11 ด้วยจุดประสงค์ที่อยากให้เราสามารถใช้พลังของ AI มาเพิ่ม Productive ให้มากขึ้น
- พวก Ecosystem นี้ถูกเรียกว่า Co-Pilot Stack
- จากที่เราได้เห็นการเอา AI มาใช้งานแล้ว หากเราอยากสร้าง AI สุดทรงพลังที่มาใช้ของตัวเอง Microsoft ก็มีแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Azure AI Studio ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับพัฒนา AI อย่างครบวงจร เช่น เราเป็นเดฟโดนเจ้านายสั่งให้ทำ AI แบบ ChatGPT ที่สามารถใช้งานกับข้อมูลในบริษัท Azure AI Studio ก็เป็นตัวที่ตอบโจทย์เพราะมีทั้งเครื่องมือ โมเดลสำหรับการสร้าง ไปจนถึงตัวช่วยวัดว่าเราจะเชื่อมันได้ยังไง และข้อดีเดิมคือพอมันเป็นแพลตฟอร์นบนคลาวด์แล้วการจัดการ Infra และ Security เองก็ไม่ยุ่งยาก
- ก่อนหน้านี้ได้มีการพูดถึงว่าเราจะเชื่อ AI ที่เราสร้างมาเองได้ยังไง สิ่งนั้นมันคือ Service ที่ชื่อว่า Azure AI Safety เป็นตัวที่คอยตรวจสอบ ChatGPT สร้างเองว่ามันจะไม่นอกลู่นอกทางใช่มั้ย
- Microsoft Fabric อันนี้ต้องบอกเลยว่าเป็นเรือธงหรือ Game Changer ของงานนี้เลยทีเดียว เป็น Tools ที่มีความสามารถสูงเอามาใช้งานด้าน Data ช่วยลดปัญหา Data Format ที่แตกต่างกัน อยู่ต่างทีม และการทำ DataPrep ที่ต้องใช้ทรัพยากรสูง ๆ
- สุดท้ายก่อนจบไปคุณ Visarut ได้พูดถึงสกิลที่สำคัญหลังจากนี้คือสกิลในการสั่งให้ AI ทำงาน เพราะรูปแบบการทำงานจะเป็นการสั่งงานยังไงให้ AI ทำงานออกมาได้ผลลัพธ์ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด
Session 2 : Innovate with Microsoft Azure and OpenAI
Speaker แวะบอก “Windows 11 ตัวใหม่สามารถแตกไฟล์ .rar ได้แล้ว จากเดิมที่ต้องติดตั้ง WinRAR”
โอเชเข้าเรื่องที่ตอนนี้เป็นเทรนด์ของ AI ไม่ว่าจะไปไหนมาไหนก็มีแต่คนพูด AI AI AI เพราะมันคือยุคของการเอา AI มาใช้ มาช่วยในการสร้าง Application แบบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ ChatGPT หรือ Bing ก็จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะเปลี่ยนการทำงานของเราให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากที่เราจะใช้ AI ตัวดัง ๆ ในตลาด เราจะสร้าง AI ของเรา ที่ใช้งานแบบ ChatGPT ในองค์กรของเราเอง ข้อมูลไม่หลุด มี Security ขั้นพื้นฐาน ดูแลไม่ยาก ซึ่งก็ได้ออกมาเป็น Copilot Stack
ที่เราสามารถใช้งาน AI ของเราผ่านการสร้าง Plugin แล้วเอาไปต่อกับ ChatGPT แค่นี้ AI ของเราก็จะสามารถใช้งานร่วมกับข้อมูลของเราได้แล้วและนอกจากนั้นเรายังได้เห็นความสำคัญของการเอา AI ไปต่อกับแอปอื่น ๆ เช่น Microsoft เอาไปรวมกับเครื่องมือในการเขียนโค้ดไม่ว่าจะเป็น GitHub หรือ VS Code / Visaul Studio
ต่อมาที่ Azure OpenAI Studio เป็น Web Application ที่เราใช้ทดสอบ Prompt ก่อนขึ้นไปอยู่ใน Application โดยเราสามารถลงทะเบียนด้วย Azure Account และใช้งานได้เลย
โดยเราสามารถต่อกับ Data Source ของเราจากที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Azure Blob Storage, Upload file, Azure Cognitive Search, Cosmos DB นอกจากเรื่องของการต่อกับแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ยังสามารถจัดการคำตอบที่จะตอบ user อีกทั้งด้านในยังมีโมเดลต่าง ๆ ให้เลือกใช้มากมายไม่ว่าจะเป็น GPT-4, GPT-3.5, ChatGPT และ Dall-E 2 พอมันมาอยู่ใน Azure Open AI แล้วจะทำให้มันตอบลูกค้าตาม Data Source ของเราได้ หากเราต้องการทดสอบบอทสามารถทำสอบใน Chat Playground ก่อนนำไปใช้งานจริงได้ และไม่ต้องกลัวว่าข้อมูลของเราจะหลุดเพราะไปอยู่บนคลาวด์ เพราะตอนที่ใช้งาน Azure AI Studio จะไม่ได้ไปใช้ Resource ร่วมกับของคนอื่นหรือข้อมูลถูกนำไปเทรนต่อโดยคนอื่นก่อนหน้านี้เราจะรู้จักกับ Azure Open AI แต่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อแล้วนะเป็น Azure AI Studio นี่แหละ และอีกตัวสุดท้ายที่ว้าวมากนั้นคือ Prompt Flow เป็นเครื่องมือที่ทำให้เดฟอย่างเรา ๆ รู้ว่าต้องทำอะไรกับ Prompt บ้างและเอาอะไรมาใช้ได้บ้าง สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ Prompt Flow ได้ที่ลิงก์นี้
จากที่ดู Demo และการใช้งานจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโค้ด ดีบัก ไปจนถึงขั้นตอนการไปดอยพลี เอ้ย ดีพลอย (Deploy) ทุกอย่างอยู่ในหน้าเดียว แพลตฟอร์มเดียว ไม่ต้องสลับไปมา อยากหาโมเดลที่เป็น open source บน Azure AI Studio ก็มีมาให้แล้ว และทุกอย่างถูกครอบไว้ใน AI Safety ที่ช่วยในการคุม AI ไม่ให้นอกลู่นอกทางในระดับนึงแล้วนั่นเอง สุดท้ายก็จะเป็นเรื่องของ Meta Prompt ที่เป็นเหมือนส่วนในการบรีฟงานให้กับโมเดลของเราก่อนออกไปเผชิญหน้ากับ user บอกโมเดลก่อนว่าคุยกับ user เป็นลักษณะไหน เป็นบทบาทอะไร อะไรตอบได้ อะไรตอบไม่ได้ ไปจนถึงป้องกันการ Jailbreak
Session 3 : Learning from Imagine Cup participants
เป็น session จากน้อง ๆ ทีม CS-M Tool จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยที่ได้ไปแข่ง Imagine Cup ในรอบ World Championship น้อง ๆ ลงเกี่ยวกับสุขภาพ ชื่อโปรเจกต์ CS-M Tool เป็นโปรเจกต์เกี่ยวกับเครื่องมือการตรวจสอบหัวใจด้วยตนเองจากเสียง Stethoscope ด้วยอัลกอริธึมเครือข่ายเซลล์ประสาทเทียม ที่น้อง ๆ ได้หยิบปัญหาของความยากในการเข้าถึงการตรวจโรคหัวใจในขั้นเบื้องต้น
โดยการตรวจของน้องจะเป็นการทำ Mobile Application ที่เอาหูฟังของแพทย์ (Stethoscope) ต่อเข้ากับไมค์เพื่อรับ input เสียงแล้วใช้โมเดล Machine Learning ในการวิเคราะห์ โดย System Architecture ที่น้องใช้ได้มีการเอาบริการต่าง ๆ ของ Azure มาใช้ไม่ว่าจะเป็น API Management ที่เอาไว้จัดการ API ต่าง, Azure App Service สำหรับการโฮสต์แอป, Table storage กับ Azure Blob Storage สำหรับเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไปจนถึง Azure Active Directory สำหรับเก็บ users credential และ Key Valute ในการเก็บพวก encryption ต่าง ๆ
นอกจากประสบการด้าน Technical แล้วน้อง ๆ ยังเล่าถึงประสบการณ์เกี่ยวกับประสบการณ์ Microsoft ที่ต่างประเทศได้สอนเกี่ยวกับ Pitch และการตอบที่มีประสิทธิภาพ น้อง ๆ ได้แชร์เกี่ยวกับการเรียนรู้ในการทำระบบของน้อง ๆ ส่วนใหญ่เรียนมาจาก Microsoft Learn และที่โรงเรียนเนื่องจากที่โรงเรียนมีโครงการพิเศษด้านการเขียนโปรแกรมอีกด้วย
Session 4 : The new era of the AI copilot
จากที่เรารู้กันว่าตอนนี้ Microsoft ได้จับมือกับ OpenAI ทำให้ตอนนี้เป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านของ AI แล้วการที่จะทำให้ AI ตัวนี้หรือ ChatGPT ไปต่อได้นั้น คือการทำให้มันสามารถรองรับเดฟให้เข้ามามีส่วนร่วมได้ จากเดฟคือคนที่เขียนเว็บหรือเขียนแอป แต่ต่อมาเราจะมีคนที่เป็น AI developer มากยิ่งขึ้น โดย Microsoft ก็ได้เตรียมขุมพลัง super computer ให้มารองรับกับการเป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาแอปในยุค Generative AI ได้ นอกจากการเตรียมแพลตฟอร์มและเครื่องไว้แล้ว เขายังเตรียมพวก API และ โมเดลที่เป็น Open Source สามารถเอาไปใช้งานต่อได้อีกด้วย นอกจากนั้น Microsoft กำลังพลักดันทำ Windows ให้เป็น Best Client สำหรับการพัฒนา AI อีกด้วย
ต่อมาที่เรื่องของ Copilot ที่เป็นโครงการที่ Microsoft ซุ่มวางแผนมาอย่างนมนานเพื่อที่ต้องการออก AI ที่ให้เดฟเอามาทำ AI อีกที และต้องทำให้ AI ตัวนี้ช่วยเหลือ user ด้วยการแชท แล้วมีอีกเรื่องนึงที่เอฟก็เพิ่งรู้คือ ChatGPT มันมาจากโปรเจกต์ WebGPT ที่เป็นเหมือน Search Engine แต่มันจะไปกอบโกยหาความรู้ที่เราค้นหาในอินเทอร์เน็ตมาตอบเรา ฮ่าๆๆๆ ก็เหมือน ChatGPT ปัจจุบัน แต่สมัยนั้นคิดว่าคงจะยังใส่ Prompt ได้ไม่มากนัก หลังจากนั้นมันก็ถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็น ChatGPT บ้าง GitHub Copilot บ้าง แล้วไอ้เจ้า Copilot นี้มันอยู่ในเกือบทุกผลิตภัณฑ์แล้วตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft365, Microsoft Designer และอื่น ๆ
ส่วนการทำให้ Copilot เป็นของเราเองมากยิ่งขึ้นการทำ Plugin คือคำตอบเพื่อเป็นการเปิดช่องทางเพื่อให้ Copilot สามารถดึงข้อมูลของเราออกมาได้ แต่ต้องมีเรื่องของความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล โดยให้มองว่า Plugin เป็นตัวที่จะไปหยิบข้อมูลมาให้เรานั่นเอง โดย UX จากเมื่อก่อนที่เราคุยกับคอมโดยวิธีการเขียนโปรแกรม ต่อมาเริ่มมีการทำ UI หน้าตาปุ่มกดต่าง ๆ แต่ตอนนี้เราจะคุยสื่อสารกันแบบเป็นธรรมชาติผ่านการแชทกับ AI มากยิ่งขึ้น และส่วนที่สำคัญคือต่อมาที่ขั้นตอนในการจัดการ Prompt และ response ที่ถูกกลั่นกรองออกมาแล้วส่วนนี้จะอยู่ใน Orchestration Framework ของ Copilot Stack
ต่อมาการทำ Grounding เป็นการทำให้มันไปเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของเราได้ผ่าน Web API หรือ Plugin แล้วส่งไปยัง Plugin execution แนะนำให้ลองไปดู Behind the tech ที่เค้าได้มีการเอา Copilot มาทำ Podcast สามารถดูโค้ด ทำความเข้าใจขั้นตอนต่าง ๆ ในตัวอย่างได้ที่ repo ของ Microsoft/PodcastCopilot
Session 5 : Next generation AI for developers with the Microsoft Cloud
สำหรับเดฟอย่างเรา ๆ ก็มักจะคุ้นเคยกับทั้ง Visual Studio / VS Code ที่ใช้ในการเขียนโค้ด และ GitHub ที่เอาไว้เก็บโค้ด พร้อมทั้งทำพวก Version Control มันมากทำให้เราสามารถทำงานร่วมกัน ส่งงานได้ไวยิ่งขึ้น มีเทมเพลตมากมาย ปลอดภัยและเดฟก็ใช้กันหลัก 100 ล้านอยู่แล้ว แล้วถ้าเอา AI ไปใส่ให้กลายเป็น GitHub Copilot ก็จะเพิ่มความเทพ ช่วยเขียน ช่วยอ่าน ช่วยแนะนำโค้ดต่อ แล้วที่ปังคือมันเข้าใจบริบทของโปรเจกต์ด้วย แล้วสิ่งที่เดฟต้องทำเวลาเขียนฟังก์ชันหรือฟีเจอร์มาแล้ว มันก็ต้องเขียน unit test ใช่ป่ะ แต่คือ GitHub Copilot มันก็เขียน unit test มาให้เลย ข้อมูลตัวอย่างมันก็เตรียมมาให้ แต่ๆๆๆ ถูกผิดเดฟต้องมารีวิวอีกทีนะ
แต่แค่นี้ก็ลดระยะเวลาไปได้เยอะแล้ว ต่อมาพระเอกที่เปิดตัวออกโรงมาใหม่ ๆ นั้นคือ GitHub Copilot X ที่มาพร้อมกับขุมพลังของโมเดล GPT4 ที่มีฟีเจอร์ Copilot Chat, Copilot สำหรับการ pull requests และสร้าง testing ต่าง ๆ แบบอัตโนมัติ เรียกว่าจากเดิมที่มีปัญหาโค้ดแบบนี้เขียนยังไง กลายเป็นอยากได้โค้ดการทำงานนี้ต้องสั่งยังไงหว่า แล้วที่ชอบก็คือมันสามารถช่วยอธิบายโค้ดที่บางครั้งเขียนไว้มีแต่พระเจ้าที่เข้าใจ
มันก็จะวิเคราะห์และอธิบายมาให้อีกด้วย เรียกได้ว่าถ้าเป็นบุคคลากรเดฟก็เป็นเดฟดีเด่นเลยทีเดียว ต่อมาถ้าเจอบัคก็บอกให้เค้าแก้บัคให้ ต่อมามาที่การสร้าง Plugin พี่ป้องกันก็ได้หยิบ Repo สำหรับการเริ่มสร้าง Plugin สำหรับใช้งานกับ OpenAI ใน Azure-Samples/openai-plugin-fastapi และ Codespace ที่เป็น IDE แบบ VSCode แต่รันผ่านคลาวด์และพร้อมใช้งานได้เลยเหมาะสำหรับงานที่เป็น POC มาก ๆ
Session 6 : Shaping the future of work with AI
ตอนนี้ความสามารถของ Copilot ได้เข้าไปอยู่ใน Windows, OneDrive, Bing, Edge, Word, Excel, PowerPoint, Outlook และ Teams แล้ว หลังจากที่ Microsoft ได้ออก Bing Chat ก็ได้ market share ที่มากกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ มันเยอะมาก ๆ นอกจากความ Productive ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ Copilot จาก Microsoft365 Copilot และ Windows Copilot แล้วเราสามารถดึงข้อมูลต่าง ๆ ภายในองค์กรมาใช้งานได้ผ่าน Microsoft Graph ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับ API ต่าง ๆ และเจ้าตัว Microsoft 365 Copilot ยังสามารถใช้งานกับ Cross App ได้โดยการทำ Plugin ไปต่อนั่นเอง หากเป็น Plugin สำหรับ Microsoft 365 Copilot สามารถใช้ Teams Toolkit for Visual Studio ที่เอาไว้สร้างแอปสำหรับ Microsoft Teams ได้
ต้องบอกว่าตอนนี้ Microsoft 365 Copilot มี Plugin ให้ใช้แล้วกว่า 1000 ปลั๊กอิน และสุดท้ายเราสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพให้การเรียกใช้ข้อมูลเร็วขึ้นอีกได้จาก Semantic Index for Copilot ที่เป็นเหมือนแผนที่สำหรับเชื่อมโยงข้อมูลในองค์กรทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น ตอบโจทย์การใช้งาน Copilot ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Session 7 : Build faster with GitHub Copilot X and Codespaces
สำหรับมาที่ Session สำหรับสายเดฟโดย BorntoDev กับเดโม่แบบจัดเต็มในการใช้งาน GitHub Copilot X ที่เกิดมาสำหรับการเป็นคู่หูในการเขียนโค้ดโดยเฉพาะ โดยจากตอนนี้ที่เราเขียนโค้ดแล้วมันมี Error เราก็เอาเออเร่อไปถาม ChatGPT แล้วก็เอาโค้ดจก ChatGPT มาแปะใน IDE เราสลับไปสลับมา แต่ถ้าหากใช้เจ้า GitHub Copilot X เราจะสามารถถามคุยแชทกับ AI ใน IDE ได้เลยโดยการที่เราจะใช้งานก็จะต้องไป Sign up ที่หน้าเว็บและติดตั้ง Extension มาไว้ใน IDE ก่อนนะ โดยฟังก์ชันเด็ด ๆ ของ GitHub Copilot X มีดังนี้
- สร้าง unit test ให้โค้ดของเรา
- อธิบายโค้ดที่เลือกไว้
- ช่วยแก้บัค
นอกจากนั้นใครเป็นสาย Frontend สามารถบอกให้ AI ช่วยงานต่าง ๆ ได้เช่น อยากทำให้ div อยู่ตรงกลางก็ทำการลากคลุม div นั้นแล้วบอกให้มันอยู่กึ่งกลาง แล้วมันก็จะแนะนำโค้ด CSS ที่ตรงกับความต้องการมาให้เรา แต่เราต้องเช็คทุกครั้งด้วยน้า หรือหากเราไปเจอโค้ดเก่า ๆ ในโปรเจกต์แล้วไม่รู้ว่าบรรทัดนี้หรือโค้ดนี้มันคืออะไรก็ให้มันอธิบายมาให้ได้ และสำหรับการใช้ Codespace สามารถกด use this template ได้เลย นอกจากนั้น Codespace สามารถปรับสเปคได้ตามความต้องการ แต่ส่วนของเรื่องราคานั้นเริ่มต้นฟรีแต่จะมีระยะเวลาในการใช้งานและระดับของสเปคด้วย สามารถดูเพิ่มได้ที่ https://docs.github.com/en/billing/managing-billing-for-github-codespaces/about-billing-for-github-codespaces
Session 8 : Data analytics for the era of AI with Microsoft Fabric and Power BI
8.1 Microsoft Fabric
จากที่เราได้เห็นการใช้ AI มาค่อนข้างเยอะแล้ว แต่การสร้าง AI มันจำเป็นต้องมี Data ซึ่งเครื่องมือที่จะใช้จัดการกับ Data โดยเจ้าเครื่องมือสุดเจ๋งเรือธงของงานนั่นก็คือ Microsoft Fabric ที่เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลยุคใหม่โดยเอา AI เข้ามาช่วยงาน ซึ่งจริง ๆ แล้วเจ้าตัว Microsoft Fabric นี้คือการเอาเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ มารวมกันไว้ที่เดียวไม่ว่าจะเป็น Synapse Data Warehousing, Synapse Data Engineering, Data Factory, Synapse Data Science, Synapse Real Time Analytics และ Power BI
โดยทั้งหมดจะเก็บที่เดียวกัน รันแบบ Serverless ทำให้ Data Engineer, Data Analytic, Data Scientist ทำงานได้ใน Workspace เดียวกัน และ Security ก็คลุมเอาไว้แล้ว แล้วจากที่บอกว่าข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บอยู่ในที่เดียวกันนั่นคือ OneLake โดยตัวอย่างที่พี่เค้าเอามาเดโม่จะเป็นราคา Bitcoin จาก CoinGecko
8.2 Power BI Copilot
ในอนาคตคิดว่า PowerBI จะไปอยู่บนเว็บทั้งหมดหรือป่าว เพราะหากใช้เป็น Power BI ที่อยู่บนคลาวด์จะสามารถใช้ฟีเจอร์ได้เยอะกว่า การใช้ Power BI จะเปลี่ยนไปจากเดิมที่เราเขียน DAX ตอนนี้เราสามารถสั่งงานมันด้วยภาษามนุษย์ในการสร้างงานต่าง ๆ เมื่อโหลดข้อมูลมาแล้วมันก็จะรู้เลยว่าข้อมูลนี้เกี่ยวกับอะไร อยากได้ report แบบไหน เราก็เขียนไปเลยและใส่บริบทไปให้ได้มากที่สุดแล้ว Report ก็จะมาภายในไม่กี่วินาที เจ๋งมาก
Session 9 : Building apps more secure with Azure Linux for AKS
ปัจจุบัน Microsoft ได้ออก Linux ตัวใหม่ชื่อ CBL-Mariner เป็น Linux ที่สร้างภายใน Azure เลยโดยเจ้าตัวนี้จะมีโครงสร้างการใช้งานคล้าย ๆ CentOS ถ้าเราใช้ Azure Linux ข้อดีของ CBL-Mariner Linux หากมีช่องโหว่ Microsoft เค้าก็จะแก้ให้ได้เลย ส่วนของ Implementatioin ก็สามารถใช้ได้กับ AKS และ AKS HCI หรือจะสามารถดาวน์โหลดตัว ISO ไปใช้ได้ที่ https://github.com/microsoft/CBL-Mariner และในส่วนของการ Migrate Ubuntu node ไปยัง Azure Linux สำหรับ CBL-Mariner Linux สามารถใช้ Terraform ในการระบุ config ของ AKS ได้โดยพี่โอมได้ทำตัวอย่างไว้ที่ https://github.com/dmakeroam/aks-iacmakeroam/aks-iac: AKS IAC (github.com)
เป็นยังไงกันบ้างครับอ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะไปเซสชั่นไหนก็เจอแต่ AI เต็มไปหมดแต่ก็ต้องยอมรับเลยว่าการมาของ AI นั้นเปลี่ยนวิธีการทำงานเราไปจริง ๆ ทำให้เราสามารถสั่งงานและคุยกับคอมพิวเตอร์ด้วยภาษาธรรมชาติมากยิ่งขึ้น สามารถใครอยากเรียนรู้เพิ่มเติมสามารถดูย้อนหลังได้ที่ลิงก์นี้ครับ