พูดถึงเกมแล้ว ทุกคนก็น่าจะคิดถึงความสนุก ความตื่นเต้นและเพลิดเพลินที่ทำให้เราอยากจะเข้าเกมไปเล่นบ่อย ๆ ใช่ไหมคะ บทความนี้เราจะนำเทคนิคที่ทำให้เกมมี ความสนุก มาใช้กับเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของเราเพื่อทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นกับเทคนิค Gamification ค่ะ
เขียนโดย
Nattawanee Srikoseat – Internship @ borntoDev
Gamification คืออะไร?
เริ่มแรกมาทำความรู้จักคำ ๆ นี้กันก่อนโดย Gamification นั้นหมายถึงการนำรูปแบบของเกมที่ช่วยให้คนเล่นได้รับการกระตุ้นและทำให้เกิดแรงจูงใจในการเล่นเกมอย่างต่อเนื่องนั้นมาใช้กับสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่เกม เช่น ในห้องเรียน บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน โดยปกติแล้วคงเป็นการยากที่จะทำให้เว็บไซต์หนึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ต้องเข้ามาใช้งานเกือบทุกวันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการนำความสนุกแบบเดียวที่ได้รับจากเกมมาใช้กับเว็บไซต์เพื่อเพิ่ม Engagement เป็นอีกวิธีที่เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเห็นตัวอย่างได้ทั่วไปเช่น Duolingo, Khan Academy, Forest และ Fitbit เป็นต้น
เมื่อรู้จักคำนี้แล้วคร่าว ๆ ต่อไปจะกล่าวถึงตัวอย่างการนำหลักการ Gamification ไปใช้งานกับแอปพลิเคชันที่เราพบเห็นกัน
Challenge
โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์มักโหยหาความท้าทายและรู้สึกต้องการที่จะพิสูจน์ว่าตัวเองมีความสามารถที่จะทำสำเร็จ ดังนั้นการมี Challenge ให้ผู้ใช้งานเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเกมที่น่าสนใจในการนำมาใช้เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้อยากมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยสามารถเป็นได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับในเว็บของคุณมีเป้าหมายเพื่ออะไร เช่น ทำกิจกรรมเพื่อเก็บคำแนน ทำ Task บางอย่างให้สำเร็จ เป็นต้น
Reward
หลังจากมีความท้าทายแล้ว อย่าลืมที่จะให้รางวัลผู้ใช้ด้วย สิ่งตอบแทนที่เราให้ควรคุ้มค่ากับความรู้สึกที่ได้ลงแรงไป เราจะเห็นได้มากในรูปแบบของ Badges หรือ Achievement ซึ่งสิ่งนี้มีความคุ้มค่ากับผู้ใช้เพราะแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่และเห็นได้แค่ในแอปเท่านั้นแต่มันก็บ่งบอกถึงความสามารถและความสำเร็จของผู้ใช้
Image from Duolingo
Level/Point
หลายเว็บไซต์ใช้ระบบการให้คะแนนเป็นตัววัดความสำเร็จของผู้ใช้ร่วมกับระบบ Level เพื่อความต่อเนื่องของ Engagement โดยเพียงแค่แสดงตัวเลขเหล่านี้ก็สามารถกระตุ้นและเป็นแรงจูงใจให้ผู้ใช้อยากเข้ามาให้แอปต่อได้อย่างมากแล้วอย่างเช่น คะแนนจากความเร็วในการบรรลุภารกิจ จำนวนวิวของ Youtube หรือจำนวนวันที่ผู้ใช้ Check-in เข้าแอป
Progress Bar
บอกผู้ใช้อยู่เสมอด้วย Progress bar ว่าเขามีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้วเป็นการเตือนว่าผู้ใช้ใกล้ถึงความสำเร็จช่วยให้ผู้ใช้อยากที่จะอยู่กับแอปของเราต่อเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
Image from Trello
Performance Chart
การใช้กราฟคอยรายงานผลสถิติระยะยาวให้ผู้ใช้ได้รู้และเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตัวผู้ใช้เองทำได้ในอดีต สามารถสร้างแรงจูงใจที่จะมีส่วนร่วมกับแอปพลิเคชันได้มากเลย ตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงมีช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนได้เข้าแอป ReadAWrite ตลอดเวลาเพื่อคอยเช็คว่ายอดวิวของตัวเองมีเท่าไรในเดือนที่ผ่านมาและมันทำให้รู้สึกกระตือรือร้นเพื่อที่จะลงงานต่อ ๆ ไปให้เร็วขึ้น
Image from ReadAWrite
Leaderboard
ทุกคนคุ้นเคยกับการแข่งขัน มนุษย์เรามีความอยากเอาชนะอยู่ในตัว การที่ได้เห็นความคืบหน้าของคนอื่นไปด้วย โดยเฉพาะถ้ามีการจัดอันดับเกิดขึ้นใครจะไม่อยากได้อันดับสูง ๆ กัน จึงทำให้การจัดอันดับนี้สามารถช่วยทำให้ผู้ใช้กระตือรือร้นที่จะหาทางมีส่วนร่วมกับแอปของเราได้มากขึ้น และมีเราจะยิ่งกระตือรือร้นมากขึ้นถ้าหากเรารู้ว่าคนที่เห็นอันดับของเราคือ “เพื่อน” หรือคนที่เรารู้จัก บางแอปเลยจะมีทางเลือกให้ผู้ใช้ได้เพิ่มเพื่อน มีการจัดอันดับเฉพาะกลุ่มคนที่ได้เพิ่มรายชื่อกันไว้เท่านั้น
Image from Duolingo
Constraints
พูดถึงคำว่าข้อจำกัด หลายคนพอได้เจอแล้วอาจจะรู้สึกว่ามันไม่สนุกเลยแต่เมื่อประสบจริง ๆ แล้วการมีข้อแม้บางอย่างขึ้นมาเช่น ทำภารกิจให้เสร็จในเวลา หรือห้ามแพ้ไม่อย่างนั้นจะเสียคอมโบช่วยให้เรามีความจริงจังกับมันและรู้สึกท้าทายมากขึ้น เช่นเดียวกันเมื่อทำสำเร็จก็จะรู้สึกดีมากกว่าการไม่มีข้อจำกัดเหล่านี้ด้วย
Image from Forest
สรุปสุดท้ายสิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับ
การนำหลักของเกมมาใช้นั้นสามารถช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีและน่าตื่นเต้น ท้าทายมากยิ่งขึ้นให้กับผู้ใช้แอปพลิเคชันของเรา โดยแต่ละแอป แต่ละเว็บไซต์นั้นก็อาจมีแนวทางการประยุกต์ใช้ Gamification ที่เหมาะสมต่างกันออกไป และอาจมีแนวทางมากกว่าที่ผู้เขียนนำมาแบ่งปันให้ทุกคนในบทความนี้อีก หวังว่าตัวอย่างที่ยกมาจะสามารถเป็นไอเดียให้ชาวนักออกแบบนำไปใช้กับแอปพลิเคชันของตัวเองกันนะคะ
อ้างอิงจาก
- Anastasia Khomych. Is Gamification the Only Way for Apps to Survive, สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2565 จาก: https://blog.getsocial.im/is-gamification-the-only-way-for-apps-to-survive/
- Tubik. Gamification in UX. Increasing User Engagement., สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2565 จาก: https://uxplanet.org/gamification-in-ux-increasing-user-engagement-6437cbf702aa
- Fireart. Gamification in UX, สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2565 จาก: https://fireart.studio/blog/gamification-in-ux-design-designing-fun-experiences-for-serious-situations/