เวิร์ค ไม่เวิร์คให้ผู้ใช้เป็นคนบอกเราเอง
สินค้า/บริการ ต่างที่เราพบเจอกันในชีวิตประจำวันที่ยังคงอยู่รอดกันมาถึงทุกวันนี้ ล้วนแต่มีการพัฒนาตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นแปรงสีฟันรูปแบบใหม่ที่ดัดทรงตามปากได้ รถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ตลอดจนไปถึงเตียงนอนดูดวิญญาณที่ทำให้เราไปทำงานสาย คำถามที่น่าสงสัยคือ แล้วพวกเค้ารู้ได้อย่างไรว่าต้องพัฒนาอะไร หรือต้องปรับปรุงในจุดไหนเพื่อให้สินค้า/บริการ ของเค้ายังคงมีความต้องการของผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ตลอดเวลา
Research อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ
การ Research นั้นเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก เพราะมันทำให้เราได้ข้อมูลในการเริ่มต้นได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการทำ User Research หรือ Market Research ก็ตาม ข้อมูลที่ได้ก็จะถูกนำมาวิเคราะห์และออกแบบสินค้า/ผลิตภัณฑ์ เพื่อนำออกมาสู่ตลาดให้ผู้คนได้จับจ่ายใช้สอยกัน แต่บางทีมันก็ไม่ได้เป็นดั่งที่ใจเราคิด บางครั้งสินค้า/บริการที่ถูกเพิ่งนำออกมาให้เห็นเป็นครั้งแรก กลับมียอดความสนใจ หรือยอดขายต่ำแบบน่าใจหาย แม้ว่าจะมีการ Research มาค่อนข้างที่จะดีพอแล้วก็ตาม บางสินค้าผู้คนร้องว้าวเมื่อได้เห็น แต่กลับไม่ซื้อเพราะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของเค้า แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสินค้า/บริการ ที่เราทำออกมาจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน
ไม่มีทางรู้ถ้ายังไม่ได้ทดสอบ
บิลเป็นเด็กเฟรชชี่ซื่อ ๆ ที่แอบชอบรุ่นพี่ดีกรีดาวคณะคนหนึ่ง บิลไม่รู้อะไรเกี่ยวกับรุ่นพี่เลย จึงเริ่มจากการสอบถามเพื่อน ๆ ในรุ่นด้วยกันเอง บิลจึงรู้มาว่ารุ่นพี่คนนี้เป็นคนที่ชอบดอกไม้มาก ๆ แต่บิลก็รู้สึกว่าข้อมูลมันยังแน่นไม่พอ เลยรวบรวมความกล้าบากบั่นไปหารุ่นพี่ในคณะที่รู้จักเพื่อสอบถามเพิ่มเติม ก็ได้รู้ว่ารุ่นพี่ดีดรีดาวคณะคนนี้ ๆ ชอบกินแซลมอนมาก ๆ เลยทีเดียว หลังจากได้ข้อมูลบิลก็เริ่มคิดว่าจะทำยังไงต่อไปดี จะหาดอกไม้งาม ๆ สักช่อไปให้ หรือจะชวนไปกินแซลมอนดี ไม่นานนักบิลก็ตัดสินใจได้ จึงรวบรวบความกล้าครั้งยิ่งใหญ่ทักแชท Facebook ไปในทันที บิลตัดสินใจชวนรุ่นพี่ไปทานบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นชื่อดังแห่งหนึ่ง เมื่อถึงเวลาตักอาหารบิลก็จะโชว์สกิลประทับใจด้วยการเดินไปตักข้าวปั้นหน้าซูชิมาโดยทันที และแล้วก็ต้องเศร้าเมื่อพบว่าสาวที่เค้าชวนมาเดทด้วยนั้นไม่ชอบกินซูชิอย่างแรง แม้มันจะเป็นแซลมอนก็ตาม บิลได้เรียนรู้ ครั้งถัดไปบิลจึงตักแต่แซลมอนซาซิมิ มาให้ซึ่งก็ถือว่าทำให้รุ่นพี่ดาวคณะคนนี้ประทับใจได้ไม่มากก็น้อย
ตัวอย่างข้างบนคือการจีบสาวของนายบิล (แม้ว่าชีวิตจริงจะไม่อดุมคติขนาดนี้ก็เถอะ TT) จะเห็นเลยครับว่าบิลจะเริ่มจากการทำ Research ก็คือการเดินไปถามเพื่อน ๆ พี่ ๆ เพื่อดูว่าสาวรุ่นพี่คนนั้นชอบอะไร ไม่ชอบอะไร จากนั้นก็เอามาทำการวิเคราะห์ เพื่อดูว่าจะทำวิธีไหนเพื่อมัดใจสาวให้ได้ เมื่อตัดสินใจได้แล้วก็ทำการลงมิปฏิบัติ แต่บิลก็พลาดในตอนแรกครับ เพราะเค้าเลือกที่จะตักซูชิหน้าแซลมอนมา ซึ่งเป็นสิ่งที่สาวไม่ได้ชอบขนาดนั้น นี่แหละครับที่เค้าเรียกว่าการทดสอบ ในชีวิตจริงก็เหมือนกับการจีบสาวเลยครับ มันจะมี Insight บางอย่างที่เราไม่สามารถรู้ได้ หรือเรามองข้ามมันไป จะไปโทษตอน Research อย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะบางครั้งมันมาพร้อมกับ Emtional ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น การตักซูชิปลาแซลมอนมาทำให้รู้ว่าสาวไม่ปลื้ม เลยเปลี่ยนเป็นแซลมอนซาซิมิ สาวก็ประทับใจมากขึ้น นี่ยังดีนะครับเป็นแค่บุฟเฟต์มื้อเดียว ราคาหลักพันบาท ลองนึกถึงการพัฒนาสินค้า/บริการ ที่ใช้ต้นทุนเป็นหลักล้านสิครับ คงไม่อยากไปลองใจตอนทำเสร็จแล้วแน่นอน
อย่าเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
การทำแอปพลิเคชันขึ้นมาสักแอปนึงนั้นใช้ต้นทุน และเวลาที่ค่อนข้างสูงมาก อาจะใช้เวลาหลายเดือน จนถึงเป็นปีเลยก็มีกว่าจะได้แอปพลิเคชันขึ้นมา ซึ่งผมเดาว่าเราคงไม่อยากเสียเวลาไปกับสิ่งที่เราไม่มั่นใจว่าจะมีคนใช้หรือไม่ใช่แน่นอน ทุกครั้งที่เราจะเริ่มพัฒนาแอปพลิเคชัน เราจะเริ่มจาการ
คิดไอเดีย(Idea) > สร้าง (Build) > ปล่อยให้คนใช้ (Launch) > เรียนรู้ (Learn)
หลังจากเรียนรู้เสร็จ เราก็จะกลับไปคิดไอเดียอีกรอบ ซ้ำวนไปเรื่อย ๆ ปัญหาของวงจรนี้เสียอย่างเดียว คือมันไปกินเวลาในส่วนของการสร้างนาน……….มาก (ให้รู้ว่านานจริง 55555) ดังนั้น Google จึงคิดค้น shot circuit ขึ้นมาเรียกว่า Design Sprint
โดย Design Sprint จะเป็นการลัดวงจรด้วยการเริ่มคิดไอเดียแล้วข้ามไปเรียนรู้เลย ทำซ้ำไปแบบนี้จนได้คำตอบที่แน่ชัดแล้วว่าไอเดียที่เราคิดนั้นถูกต้อง และมีคนใช้จริง ๆ จึงนำไปสร้างเป็นของจริง ๆ ออกมาเพื่อให้คนได้ใช้
ทดสอบราคาถูกด้วย Prototype
Prototype คือสิ่งที่เราสร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอดไอเดียออกมาให้เป็นรูปร่าง สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันแล้ว มันใช้เวลาน้อยกว่าการพัฒนาจริงครับ ใช้เวลาแค่ประมาณสัปดาห์นึงก็สามารถทำออกมาได้ทั้งระบบพร้อมเอาไปทดสอบกับผู้ใช้แล้ว การทำ Prototype นั้นทำได้หลายรูปแบบมากตั้งแต่การวาดหน้าจอลงไปในกระดาษ ไปจนถึงการออกแบบในโปรแกรม โดยส่วนตัวผมเองจะชอบการทำ Prototype ให้ใกล้เคียงกับแอปพลิเคชันจริง ๆ มากที่สุด เพราะเวลาเอาไปทดสอบผู้ใช้เค้าจะคิดว่ามันคือแอปพลิเคชันจริง ๆ และเค้าจะมีอารมณ์ร่วมกับการทดสอบของเรามากขึ้น
ไหน ๆ ก็พูดถึงการทำ Prototype แล้ว ก็เลยขอแชร์เครื่องมือที่ใช้ในการทำ Prototype ของผมเลยแล้วกัน
- ปากกา + กระดาษ (ใช้วาดไอเดียในหัวออกมาแบบคร่าว ๆ)
- Sketch App (ใช้ออกแบบหน้าจอจากที่วาดไว้ให้ดูสมจริงยิ่งขึ้น)
- Marvel (ใช้ทำ Prototype สำหรับเว็บ)
- Flinto (ใช้ทำ Prototype สำหรับแอปพลิเคชันบนมือถือ)
ข้อควรระวัง :ในการทำ Prototype นั้นที่ควรจำไว้เลยก็คือการทำ Mock Data หรือข้อมูลหลอก ๆ ที่จะแสดงบนหน้าจอครับ พยายาม Mock Data ออกมาให้เหมือนจริงมากที่สุด เช่น ถ้าเราทำแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับการส่งบิล ก็พยายามเลือกข้อมูลที่มันสมจริง ๆ เช่นชื่อคนรับบิลจะต้องอ่านแล้วไม่รู้ว่านี่คือชื่อหลอก ๆ (พวกนายสมชาย ขายบะหมี่ แบบนี้ไม่เอานะครับ) ความน่าเชื่อถือของแอปพลิเคชันของเราจะตกลงไปทันที
เสริมอีกนิด : ในการเลือกเครื่องมือสำหรับทำ Prototype นั้น ให้เลือกเครื่องมือที่เราถนัดมากที่สุดครับ เพราะอีกเป้าหมายนึงของการทำ Prototype นั้นคือ เวลา ครับ พยายามใช้เวลาให้น้อยที่สุด เพื่อที่จะเอาไปทดสอบ ยิ่งเก็บ Feedback ได้เร็วมากเท่าไหร่ยิ่งดีครับ ล้มเร็ว ลุกเร็ว เข้าเส้นชัยเร็วกว่าแน่นอน
การทดสอบไอเดียนั้น ถ้าหากเราทำได้จริง ๆ มันจะช่วยประหยัดได้หลายอย่างมาก ทั้งเวลา ต้นทุน แถมยังทำให้เราเรีนยรู้ผู้ใช้ได้เร็วมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นข้อดีเพราะมันจะทำให้เรารู้ว่าผู้ใช้เค้ารู้สึกอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบตรงไหน อะไรที่ขาดที่เกิน ซึ่งในฐานะของ Designer แล้ว เราต้องรู้ครับว่าสิ่งที่เราออกแบบมานั้นมันดีหรือไม่ดี ถ้าหากมันไม่ดีควรจะปรับปรุงตรงไหน ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าเป็นทักษะที่ Designer ทุกคนจะต้องมีในยุค 2018 เป็นต้นไป เพราะอย่างที่เคยบอกในบทความที่ผ่านมาว่า ในฐานะ Designer แล้วเราเป็นคนที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหา หวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นไอเดียในการไกด์ให้ Designer หน้าใหม่ ๆ ทุกท่านที่กำลังเข้าสู่สาย UI(UX) เข้าใจมากยิ่งขึ้นครับ 🙂